นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ Governer’s Talk ซึ่งเผยแพร่ใน BOT พระสยาม MAGAZINE ถึงความกังวลต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ว่า มาตรการทางการเงินและมาตรการต่าง ๆ เป็นแค่การซื้อเวลา เหมือนกับการพยุงอาการคนไข้เพื่อรอวันที่คนไข้จะฟื้นตัวกลับมาเอง ท้ายที่สุดแล้ว เศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินหรือการคลัง แต่คนต้องมีรายได้ ต้องมีงานทำ
แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ถ้าการท่องเที่ยวไม่กลับมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็กลับมาได้ลำบาก เพราะภาคการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่มีสัดส่วน 11 – 12% ของ GDP แต่เป็น 20% ของการจ้างงานด้วย ตราบใดที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา รายได้ของคนก็ไม่กลับมา ต่อให้เรายืดหนี้ ลดต้นลดดอก ลูกหนี้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้
“การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ขึ้นอยู่กับวัคซีน สิ่งที่ผมกังวล คือ เราจะมีวัคซีนพอฉีดไหม ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้แค่ไหน การกระจายการฉีดเร็วพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนที่สายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อต่อวัคซีนจะระบาดไหม คนพร้อมจะฉีดด้วยไหม ฯลฯ ซึ่งการหยุดวิกฤตนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่เช่นนั้น เราก็จะติดกับดักวงจรอุบาทว์ ระบาดระลอกใหม่-ล็อกดาวน์-รัฐเยียวยา-เริ่มมาตรการฟื้นฟู-การ์ดตก-ระบาดใหม่ วนไปไม่มีวันหลุดพ้น”
ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า วิกฤตครั้งนี้สะท้อนความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป โดยไม่มีเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นรองรับ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะชี้ชะตาความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
“ประเทศไทยไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้มานาน คล้าย ๆ กับเราซื้อเวลาด้วยการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ตัวเลขออกมาดูดี สนับสนุนให้คนเป็นหนี้กู้ง่าย การบริโภคก็เลยดูดี เศรษฐกิจก็โตขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่ทั้งประเทศต้องฉุกคิด ไม่ใช่แค่เรื่องของการจะออกจากวิกฤตครั้งนี้ แต่หลังจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยควรจะเป็นอย่างไร และถ้าจะให้ดี สิ่งที่เราทำระหว่างทางเพื่อแก้วิกฤต ควรจะต้องตอบโจทย์ระยะยาวของประเทศด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องของภูมิทัศน์ของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ฉะนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ควรวางแผนระยะยาวตั้งแต่วันนี้ หากธุรกิจมีหนี้ ก็ควรใช้ช่วงเวลานี้ปรับโครงสร้างหนี้ และหาสภาพคล่องเพื่อมาปรับรูปแบบหรือโครงสร้างธุรกิจรองรับกับการทำธุรกิจยุค new normal
ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 จะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากจะเป็น “ตัวฉุด” การฟื้นตัวของหลาย ๆ ครัวเรือน ซึ่งจะซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา
ผู้ว่าธปท. มองว่าตอนแรกมองว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 “แรงแต่สั้น” มาตรการรอบแรกจึงทำแบบปูพรม แต่จะเห็นว่าวิกฤตวันนี้หนัก ยืดเยื้อ และมีผลกระทบไม่เท่าเทียม การฟื้นตัวจึงแตกต่างกัน เช่น ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่มีรายได้ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้ามาเที่ยวไทยปีละ 40 ล้านคน ตอนนี้เหลือ 0 หรือในกลุ่มลูกหนี้รายย่อย มนุษย์เงินเดือนบางส่วนได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะยังมีเงินเดือน มีสวัสดิการอยู่ แต่แรงงานรายวันได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ฉะนั้น มาตรการแบบปูพรมจึงไม่เหมาะ เพราะอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาวต่อวินัยของลูกหนี้ จึงเป็นที่มาของการออกแบบมาตรการเพื่อแก้ไขในจุดที่เป็นปัญหา (targeted)
“ปัญหาของมาตรการซอฟท์โลนไม่ได้อยู่ที่สภาพคล่องโดยรวมในระบบไม่พอ เพราะตามที่รัฐบาลสามารถกู้เงินระยะเวลา 10 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% สินเชื่อรายย่อยยังโต 3 – 4% และสินเชื่อรายใหญ่โต 10% ขณะที่สินเชื่อ SMEs กลับหดตัว ซึ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาที่แท้จริง คือ สภาพคล่องที่มีไม่ไปในจุดที่เราอยากให้ไป”
ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่า แม้เป้าหมายของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูจะมุ่งเน้นให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกรายจะต้องได้สินเชื่อฟื้นฟู โดยกลุ่มที่ ธปท. ต้องการให้เข้าถึงมาตรการนี้มากที่สุด ได้แก่ SMEs ที่เมื่อได้รับสินเชื่อไปเป็นทุนหมุนเวียนแล้ว จะสามารถพยุงธุรกิจให้อยู่รอดไปจนช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมา
“ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ได้สินเชื่อไปแล้วจะรอด เราต้องยอมรับความจริงว่า SMEs มีทั้งกลุ่มที่มีโอกาสรอดน้อยมาก ซึ่งเราเรียกกันว่าลูกหนี้กลุ่มสีแดง และ SMEs กลุ่มที่ควรจะรอดถ้าได้สินเชื่อ หรือลูกหนี้กลุ่มสีเหลือง ซึ่งหากปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูที่มีอยู่จำกัดให้ทุกกลุ่ม อาจทำให้กลุ่มที่ควรจะรอดพลอยไม่รอดไปด้วย เพราะทุกอย่างมีต้นทุน มีค่าเสียโอกาส”
“โจทย์หลักของ ธปท. คือ ทำอย่างไรให้สภาพคล่องในระบบเข้าถึง SMEs ที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อในระบบ เราจึงได้ออกแบบให้กลไกของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องสินเชื่อใหม่ให้กับ SMEs กลุ่มนี้ โดยเราอาศัยบทเรียนจาก พ.ร.ก. ซอฟท์โลน และขยายผลจนได้มาเป็นมาตรการชุดใหม่”
ผู้ว่าการ ธปท. ระบุถึงข้อจำกัดของมาตรการซอฟท์โลนที่ผ่านมาว่า ธนาคารพาณิชย์มักมอง SMEs เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บกับลูกหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ซอฟท์โลนถูกกำหนดไว้เพียง 2% ต่อปี จึงอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ในช่วงการระบาด หลายธนาคารจึงไม่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs ทำให้มาตรการใหม่นี้ได้เพิ่มกลไกการค้ำประกันสินเชื่อและออกแบบให้ SMEs รายเล็กได้รับการค้ำประกันมากกว่าตามความเสี่ยงที่สูงกว่า รวมทั้งกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยสะท้อนความเสี่ยงมากขึ้นและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อในสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนสูง โดยภาครัฐช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยบางส่วน
“กว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เราคุยมาเยอะมากทั้งฝั่งเจ้าหนี้และลูกหนี้ พบว่า ความต้องการลูกหนี้ในเวลานี้ เขาขอแค่เข้าถึงสินเชื่อได้ มาตรการชุดใหม่นี้จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5% แต่ 2 ปีแรก ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% เพราะเมื่อทุกอย่างเริ่มฟื้นตัว ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามองว่า ดอกเบี้ยใหม่สมเหตุสมผลในแง่ของการสะท้อนความเสี่ยง เพราะถ้าดอกเบี้ยต่ำเกินไป ลูกหนี้ที่เข้าถึงสินเชื่อก็จะมีแต่รายใหญ่ เพราะความเสี่ยงต่ำทั้งที่ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง ขณะที่ลูกหนี้ที่มีปัญหากลับเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ฉะนั้น ในมาตรการชุดใหม่ เราจึงต้องบาลานซ์ตรงนี้”
นอกจากปลดล็อกให้กลุ่ม SMEs ที่ไม่เคยมีวงเงินกับสถาบันการเงินเข้าถึงสินเชื่อแล้ว มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูยังเพิ่มความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เดิม โดยขยายวงเงินจาก 20% ของยอดคงค้างสินเชื่อที่เบิกใช้ในปัจจุบันเป็น 30% ของวงเงินสินเชื่อให้เพียงพอรองรับความต้องการของลูกหนี้ และขยายระยะเวลาสินเชื่อจาก 2 ปี เป็น 5 ปี ขยายเวลาค้ำประกันเป็น 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจที่นานกว่าที่คาด และฟื้นตัวแบบสะดุดเป็นช่วง ๆ
“เราดีไซน์มาตรการให้ยาวขึ้น เพราะการมองภาพระยะยาวมากพอ จะทำให้การประเมินความเสี่ยงต่ำลง อย่างภาคการท่องเที่ยว เรามองว่า ด้วยศักยภาพของประเทศไทย ยังไงก็ต้องฟื้น แต่ต้องใช้เวลา 5 ปีขึ้นไป กว่าที่การท่องเที่ยวจะกลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 ฉะนั้น การยืดระยะเวลาของมาตรการจึงช่วยตอบโจทย์ของธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าอย่างภาคท่องเที่ยวและบริการได้ดีกว่า ซึ่งประเทศไทยมี SMEs ในภาคบริการอยู่เป็นจำนวนมาก”
สำหรับลูกหนี้ SMEs นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า โจทย์หลักในการให้ความช่วยเหลือของมาตรการฟื้นฟู มีทั้งการเติมสินเชื่อใหม่ อันเป็นที่มาของสินเชื่อฟื้นฟู และการจัดการภาระหนี้เดิม ซึ่งเป็นที่มาของ “มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing)” กลไกใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแรง ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่ากลุ่มอื่น และมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ แต่ไม่สามารถใช้กลไกการปรับโครงสร้างหนี้ปกติได้
“การปรับโครงสร้างหนี้เหมาะกับลูกหนี้ที่ยังมีรายได้ แต่อาจลดลง ซึ่งถ้าคุณเป็นเจ้าของโรงแรมในภูเก็ตหรือสมุยที่รายได้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ช่วงปีที่ผ่านมาแทบไม่มีรายได้ ดังนั้น ถึงจะปรับโครงสร้างหนี้ ลดยอดผ่อนชำระหนี้ลงไป ลูกหนี้ก็ไม่มีเงินมาจ่ายอยู่ดี มาตรการนี้จะปิดช่องว่างให้ SMEs ที่มีปัญหารายได้หายไปจนไม่อาจปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยสามารถตีโอนทรัพย์สินที่อยู่กับสถาบันการเงินเพื่อหยุดภาระการชำระหนี้ และมีสิทธิ์ซื้อคืนทรัพย์สินในราคาตีโอนบวกกับค่าดูแลรักษา (carrying cost) ในระยะเวลา 3 – 5 ปี นอกจากนี้ ยังมีสิทธิเช่าทรัพย์สินกลับไปทำธุรกิจในราคาไม่แพงเกินไป และสามารถนำค่าเช่าไปหักราคาที่จะซื้อคืนได้”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 64)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เศรษฐกิจไทย, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ