ก.ล.ต.ออกเกณฑ์กำหนดพฤติการณ์อันควรสงสัยที่ผู้สอบบัญชีต้องแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ออกประกาศเพื่อกำหนดพฤติการณ์อันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำความผิด และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าว ตามมาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว และส่งเสริมการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตามมาตรา 89/25 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ผู้สอบบัญชี (ในการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชี) มีหน้าที่ในการแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ หรือคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียน หากพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล อาจมีการกระทำผิดตามมาตราที่ระบุไว้ในมาตรา 89/25 เช่น การเบียดเบียนเอาทรัพย์ของนิติบุคคลไปโดยทุจริตหรือการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ตามกฎหมาย อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคล หรือเปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร

ก.ล.ต. จึงจัดทำประกาศโดยกำหนดให้พฤติการณ์อันควรสงสัย และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพบัญชี จรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี และข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี เช่น มาตรฐานการสอบบัญชีเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการพิจารณาการทุจริตในการตรวจสอบงบการเงิน และการพิจารณากฎหมายและข้อบังคับในการตรวจสอบงบการเงิน โดยประกาศดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564

สำหรับมาตรา 89/25 ในการสอบบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทตามมาตรฐานการสอบบัญชี ไม่ว่าจะกระทำในฐานะเป็นผู้สอบบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าวหรือในฐานะอื่น ซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวยินยอมให้สอบบัญชีก็ตาม ถ้าผู้สอบบัญชีพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง มาตรา 305 มาตรา 306 มาตรา 308 มาตรา 309 มาตรา 310 มาตรา 311 มาตรา 312 หรือมาตรา 313 ให้ผู้สอบบัญชีแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทนั้นทราบเพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไปโดยไม่ชักช้า และให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานผลการตรวจสอบในเบื้องต้นให้แก่ ก.ล.ต. และผู้สอบบัญชีทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชี ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบไม่ดำเนินการ ให้ผู้สอบบัญชีแจ้งให้ ก.ล.ต. ทราบ โดยพฤติการณ์อันควรสงสัยที่ต้องแจ้ง และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top