ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกแถลงการณ์ขานรับรายงานที่ว่า 130 ประเทศได้เห็นพ้องกับการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำระดับโลก (Global Minimum Tax) หรือ GMT ซึ่งจะเปิดทางให้รัฐบาลต่างๆ เรียกเก็บภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่ได้มากขึ้น
“ในวันนี้ เราได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้มุ่งไปในทิศทางที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับพนักงานและครอบครัวชนชั้นกลาง” ปธน.ไบเดนระบุในแถลงการณ์ พร้อมกับย้ำว่า การกำหนดอัตราภาษี GMT จะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทข้ามชาติหลบซ่อนผลกำไรไว้ในประเทศที่เก็บภาษีต่ำ
นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้ออกมาขานรับข้อตกลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่า “เป็นเวลาหลายสิบปีที่สหรัฐได้เข้าร่วมการแข่งขันด้านภาษีระหว่างประเทศ โดยได้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของเรา ขณะที่ชาติอื่นก็ปรับลดลงตาม ทำให้ทุกประเทศต่างแข่งกันปรับลดอัตราภาษีให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่มีชาติใดได้รับชัยชนะ”
“ข้อตกลงในวันนี้โดย 130 ประเทศที่มีสัดส่วน GDP มากกว่า 90% ของทั้งโลก ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า การแข่งกันปรับลดอัตราภาษีให้ต่ำที่สุดใกล้จะยุติลงแล้ว โดยอเมริกาจะเข้าร่วมการแข่งขันที่เราสามารถชนะได้ โดยตัดสินจากความชำนาญของแรงงานของเรา และความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานของเรา”
นางเยลเลนระบุในแถลงการณ์
อย่างไรก็ดี นางเยลเลนไม่ได้เปิดเผยว่า GMT จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ระดับใด อย่างไรก็ดี รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้พยายามผลักดันให้ประเทศทั่วโลกกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำที่ 15%
ด้านนางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แสดงท่าทีตอบรับข่าวดังกล่าวเช่นกัน โดยกล่าวว่า การที่ 130 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันเกี่ยวกับการกำหนดภาษี GMT นั้น จะช่วยให้ประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศหันมาร่วมมือมากขึ้นในวันข้างหน้า
“ในที่สุดรถไฟขบวนนี้ก็ได้ออกจากชานชาลาเสียที” นางจอร์เจียวากล่าวกับผู้สื่อข่าว และระบุเพิ่มเติมว่า “เรายังมีงานที่ต้องทำอีกมาก เพื่อให้มั่นใจว่าทุกประเทศจะเข้ามาอยู่ในรถไฟขบวนเดียวกัน และพวกเขาจะตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ประเทศตนเองสมควรได้รับ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 64)
Tags: IMF, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, คริสตาลินา จอร์เจียวา, ภาษีนิติบุคคล, เจเน็ต เยลเลน, โจ ไบเดน