จากกระแส “DeFi” และ “Yield Farming” ที่มาแรงเกินต้าน ผลตอบแทนจากโลกใหม่ที่ไม่จำกัดอยู่แค่การเทรด หรือการซื้อ ขาย ทั่วไป วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ นายกานต์นิธิ ทองธนากุล เจ้าของเพจ Kim Defi Daddy และผู้ร่วมก่อตั้ง Bitcoin Addict เจาะลึกโลก “DeFi” ว่าจริง ๆ แล้วคืออะไร และในฐานะนักลงทุนจะลงทุนใน DeFi รูปแบบใดได้บ้าง
Blockchain เทคโนโลยีเบื้องหลัง “DeFi” และ “Crypto Currency”
บล็อกเชน คือ เทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ง่ายต่อการตรวจสอบ ยากต่อการปลอมแปลง ต่อมาจึงมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ในระบบการเงิน ซึ่งเป็นระบบที่ต้องการความน่าเชื่อสูง ทำให้เกิดนิยามทางการเงินรูปแบบใหม่ นั่นคือ “Decentralized Finance หรือ “DeFi”
เปรียบเสมือนการจำลองการให้บริการทางการเงินทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือกระดานซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน (Exchange) ให้มาอยู่ในรูปแบบไร้ตัวกลางในการจัดการ ทุกอย่างจะทำงานตาม “Smart Contract” หรือ “สัญญาอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง และประหยัดต้นทุน (Operation Cost) ทั้งยังสามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากธุรกรรมจะถูกบันทึกอยู่ในบล็อกเชน ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto Currency) ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงหากเทียบกับการลงทุนในรูปแบบเดิม (Traditional Finance)
ความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย ต้องดูตรงไหน ??
การทำงานของแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะมีการเปิดเผยระบบโครงสร้างผ่าน “Source Code” ซึ่ง Code จะมีการเขียนคำสั่งและเปิดเผยอยู่บนบล็อกเชนเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปตรวจสอบด้วย ทำให้เกิดความโปร่งใส อีกทั้งข้อมูลที่ถูกนำขึ้นบรรจุในบล็อกเชนจะไม่สามารถแก้ไขได้ ยกตัวอย่าง หากเจ้าของแพลตฟอร์มเขียนคำสั่งว่าจะไม่มีผู้ใดถอนเงินออกไปได้นอกจากเจ้าของบัญชี แพลตฟอร์มก็จะทำงานเช่นนั้นเสมอ หรือหากเจ้าของแพลตฟอร์มเขียนคำสั่งว่าสามารถถอนเงินออกไปที่ใดก็ได้ และหากเราตรวจสอบได้ไม่ดีก็มีโอกาสสูญเสียเงินตรงนั้นได้เช่นกัน
เพื่อป้องกันความเสี่ยง ผู้ใช้งานควรเลือกใช้แพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือสูง โดยประเมินจากจำนวนเงินที่มีการฝาก การรับรองจาก Audit (ผู้ตรวจสอบ Smart Contract) รวมถึงระยะเวลาในการเปิดให้บริการและยังไม่เคยถูกโจมตีระบบแต่อย่างใด
ระบบการแลกเปลี่ยนแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance)
แพลตฟอร์มของ “DeFi” ก็เหมือนกับระบบการเงินทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน เพียงแต่มีการเปลี่ยนมาใช้งานกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto Currency) โดยรูปแบบที่ได้รับความนิยมจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. P2P Lending ระบบการกู้ยืมเงินแบบไร้ตัวกลาง หากเปรียบระบบการเงินแบบดั้งเดิม ธนาคารก็จะเปรียบเสมือนตัวกลางในการทำธุรกรรม ทางธนาคารจะทำการนำดอกเบี้ยเงินกู้บางส่วนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และอีกส่วนมามอบแก่ผู้นำเงินเข้ามาฝากในรูปแบบดอกเบี้ยเงินฝาก หากเปลี่ยนแปลงระบบโดยการตัดตัวกลางนี้ออกไป ให้ระบบทำงานด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์มาจัดการ สามารถรับฝาก ถอนเงิน ปล่อยกู้ได้ โดยอาศัยเพียงโปรแกรรมคำสั่งที่เขียนผ่าน Smart Contract
Compound.finance แพลตฟอร์มแรกที่ให้บริการ P2P Lending บนโลก “DeFi” ที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยแพลตฟอร์มได้เปิดให้เราฝากเงินดิจิทัล (Crypto) เข้าไปในระบบ ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallet) และทำการจ่ายดอกเบี้ยคืนกลับให้เราเป็นวินาที โดยแพลตฟอร์มจะทำการนำสินทรัพย์ของเราไปปล่อยกู้ต่อ และนำดอกเบี้ยเงินกู้มาแจกจ่ายให้ผู้ฝากเงิน โดยไม่ผ่านตัวกลาง ทำให้ผู้ฝากเงินสามารถรับดอกเบี้ยได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง หากเทียบกับการฝากเงินในรูปแบบเดิม ๆ
ในโลก “DeFi” บางแพลตฟอร์มจะไม่มีการทำ KYC (Know Your Customer) ทำให้ทางแพลตฟอร์มไม่อาจทราบว่าผู้ใช้บริการคือใคร เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำการกู้ยืมสินทรัพย์จากแพลตฟอร์มต้องทำการวางสินทรัพย์มูลค่า (Crypto) เพื่อค้ำประกันในส่วนของสินทรัพย์ที่กู้ยืมไป และต้องนำสินทรัพย์ที่กู้ยืมมาคืน (พร้อมดอกเบี้ย) จึงจะได้สินทรัพย์ที่เคยวางค้ำประกันไว้ก่อนหน้า
2. Decentralized Finance (DeFi) ระบบการแลกเปลี่ยนแบบไร้ตัวกลาง “Uniswap.exchange” แพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Exchange) อันดับต้น ๆ ของโลก “DeFi” ที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีลักษณะคล้ายคลึงกับกระดานเทรดคริปโททั่วไป
ปัญหาหลักของ Decentralized Exchange ที่มักพบเจอคือการขาดสภาพคล่อง (Lack of Liquidity) ที่จะให้คนเข้ามาทำการซื้อขาย ทางแพลตฟอร์มจึงแก้ไขปัญหานี้ด้วยระบบ AMM (Automatic Market Maker) โดยการนำค่าธรรมเนียมบางส่วนจากการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม และนำมาแจกจ่ายแก่ผู้เพิ่มสภาพคล่อง (Liquidity Provider) บนแพลตฟอร์ม
การเพิ่มสภาพคล่อง (Liquidity Provider) แก่แพลตฟอร์ม จึงกลายเป็นโมเดลใหม่ในการลงทุน เพื่อรับผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมในทุกธุรกรรมการซื้อขายที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มนั้น เงินจากทั่วทุกมุมโลกจึงเริ่มไหลเข้ามา โดยปัจจุบันมียอดเงินที่ฝากเข้ามาในระบบกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การเพิ่มสภาพคล่องจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเหรียญที่อาจมีการปรับตัวขึ้น-ลงได้ ควรเริ่มต้นด้วย Stable Coin (เหรียญที่ถูกตรึงมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์) จะสามารถลดความเสี่ยงตรงนี้ได้
Yield Farming โมเดลการลงทุนต่อยอดเหรียญ Gov Token
เนื่องจากแพลตฟอร์มของโลก “DeFi” มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการ upgrade ระบบ หรือการเพิ่ม function ต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จำเป็นต้องฟังเสียงของ Community ทางแพลตฟอร์มจึงได้ออกเหรียญ Governance Token (โทเคนแสดงสิทธิ์ของแต่ละแพลตฟอร์ม) เพื่อใช้ในการออกเสียง แสดงสิทธิ รวมถึงใช้เป็นส่วนหนึ่งในการโหวต (Vote)
ยกตัวอย่างเหรียญ Governance Token ของ compound.finance ชื่อว่า “COMP” โดยเหรียญนี้จะไม่มีการขาย แต่ทยอยแจกจ่ายแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการในระบบ ทั้งการฝากเหรียญและกู้เหรียญ ตามสัดส่วนมูลค่าที่เข้ามาทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม โดยผู้ถือเหรียญ “COMP” สามารถใช้ในการโหวต (Vote) แสดงสิทธิ ความต้องการ เมื่อแพลตฟอร์มมีการเปลี่ยนแปลง และต้องการมติที่เป็นเอกฉันท์จากผู้ถือเหรียญ ลักษณะของ Governance Token มีความคล้ายคลึงกับหุ้น แต่เป็นหุ้นที่ไม่มีการปันผล มีเพียงอำนาจในการแสดงสิทธิ์ (Voting Power) ปัจจุบันราคา “COMP Token” อยู่ที่ราคา 260 ดอลลาร์โดยประมาณ
นักลงทุนจึงเริ่มนำเหรียญ Governance Token ที่ได้รับจากแพลตฟอร์มมาทำฟาร์มผลตอบแทนจากการฝากเม็ดเงินลงไปในระบบ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “Yield Farming”
การทำ “Yield Farming” บนโลก “DeFi” ไม่จำเป็นต้องใช้คู่เหรียญที่เป็น “Governance Token” เสมอไป อาจใช้เป็นคู่เหรียญอื่น หรือแม้แต่ใช้ Stable Coin ในการทำฟาร์มก็ได้ นักลงทุนควรคำนึงถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเหรียญอยู่เสมอ
บทความโดย ดวงกมล คล่องบุญจิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 64)
Tags: bitcoin, Bitcoin Addict, Crypto Insight, Cryptocurrency, Decentralized Finance, DeFi, Gov Token, Kim Defi Daddy, SCOOP, Yield Farming, กานต์นิธิ ทองธนากุล, คริปโตเคอเรนซี, คริปโทเคอร์เรนซี, เงินดิจิทัล