นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/64 ยังเผชิญความเสี่ยงทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ โดยความเสี่ยงสำคัญจากต่างประเทศ คือ การส่งสัญญาณลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (QE) ของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากเฟดส่งสัญญาณปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตร (QE Tapering) ซึ่งตลาดคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลาย ส.ค.64 จะสร้างแรงกดดันอย่างมาก และผลักดันให้เงินทุนไหลออกไปได้ในบางจังหวะ
สำหรับความเสี่ยงในประเทศยังคงเป็นการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะสายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็ว ซึ่งคาดการว่ายอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงสุดช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือน ก.ค.64 ส่งผลให้รัฐบาลกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมโรคอีกครั้ง เป็นระยะเวลา 1 เดือน (ปลาย มิ.ย.-ปลาย ก.ค.64) เช่น ปิดสถานที่เสี่ยง อย่างแคมป์คนงาน งดนั่งรับประทานอาหารในร้าน และปิดสถานบันเทิงต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่ต้องติดตามความยืดเยื้อของสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 2-3/64 และมีโอกาสติดลบทั้ง QoQ และ YoY ก่อนที่จะฟื้นในไตรมาส 4/64
แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยทั้งปี 64 เชื่อว่าจะยังเติบโตได้ราว 1.7% ไม่กลับไปชะลอตัวเหมือนปีก่อน เนื่องจากในปีนี้ภาคส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน เห็นได้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัว 17% และการเร่งกระจายวัคซีนของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 3/64 รวมไปถึงโอกาสในการเปิดประเทศช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
ด้านนโยบายการคลัง ภาครัฐยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบในเดือนก.ค. ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และบัตรสวัสดิการ ซึ่งยังเป็นเม็ดเงินหล่อเลี้ยงทำให้ไตรมาส 3/64 ไม่ยุบตัวเท่าช่วงเดียวกันกับปีก่อน รวมไปถึงนโยบายการเงินที่ยังคงดอกเบี้ยต่ำที่ 0.5% ไปจนถึงสิ้นปี และคาดว่าน่าจะต่อเนื่องไปถึงช่วงกลางปี 65 หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว
“ในมุมกำไรของบริษัทจดทะเบียน น่าจะผ่านจุดสูงสุด (Peak) มาแล้วในไตรมาส 1/64 โดยช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรสุทธิรวม 5.45 แสนล้านบาท เติบโต 11.7% ซึ่งน้อยกว่าไตรมาสแรกที่เติบโต 135% นอกจากนี้ มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ปัจจุบันดำเนินมาเป็นเวลาถึง 3 เดือนครึ่งจาก 9 เดือนที่เหลือของปี ทั้งมาตรการแบ่งโซนสี และมาตรการคุมเข้ม 10 จังหวัด น่าจะกดดัน EPS ของตลาด ที่ปัจจุบัน Consensus คาดไว้ที่ระดับ 83 บาท/หุ้น ให้มีโอกาสการปรับประมาณการลง หากความเสี่ยงต่างๆ ยืดเยื้อนานขึ้น ส่วน ASPS ประเมิน EPS ไว้ที่ 71.2 บาท/หุ้น นับว่าค่อนข้างต่ำกว่าตลาดพอสมควร”
นายเทิดศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ Fund Flow จากต่างชาติคาดหวังได้ยากขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน บวกกับความกังวลเรื่อง QE Tapering เพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะเข้ามาปกคลุมตลาดหุ้นอยู่เป็นระยะ อีกทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า กดดันให้ต่างชาติมีโอกาสเผชิญการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยต้องหวังพึ่งเม็ดเงินลงทุนจากในประเทศเป็นหลัก เห็นได้จากเม็ดเงินใหม่จากการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.64 มียอดเปิดบัญชีสูงถึง 1.03 ล้านบัญชีเพิ่มขึ้น 231% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 3/64 ท่ามกลางความเสี่ยงจากรอบด้าน ประเมินแนวรับสำคัญของ SET Index ที่บริเวณ 1,510 จุด แนะนำ Selective Buy หลบความผันผวนไปหาหุ้นพื้นฐานดีที่มีแรงหนุนเฉพาะตัว และเป็นเป้าหมายของ Fund Flow อย่าง BLA, BDMS,TFG, MCS, GPSC, BJC และ CENTEL
ด้านนายภาดร สุขสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเชีย พลัส กล่าวเสริมว่า คงต้องจับตามองของสถานการณ์โควิด-19 ต่อไป โดยเฉพาะประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเกิน 50% ในต่างประเทศ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นสัญญาณที่ดีเชื่อมโยงถึงการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ตัวเลขสำคัญอย่าง GDP, อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI ก็บ่งชี้ถึงภาพการฟื้นตัวได้ชัดเจน
“ธีมจัดพอร์ตการลงทุนในไตรมาส 3/64 ยังคงแนะนำให้กระจายการลงทุนไปยังประเทศที่เห็นสัญญาณชัดเจน อย่างสหรัฐฯและจีน เพื่อสร้างทางเลือกการลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว และกระจายความเสี่ยงบางส่วนออกจากหุ้นไทย ที่ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในระยะข้างหน้านี้”
นายภาดร กล่าว
นายภาดร กล่าวเสริมว่า ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และจีน ที่หุ้นเติบโตดีของฝั่งสหรัฐได้ปรับตัวลดลงตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.64 เนื่องจากความกังวลเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่เร่งตัวขึ้นสะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัวจากการกระจายวัคซีนและการเปิดเมือง แต่เริ่มเห็นการเปลี่ยนกลุ่มจากหุ้นคุณค่าไปยังหุ้นเติบโตดี ตั้งแต่ช่วงพ.ค.64 โดยดัชนี Nasdaq ที่ประกอบด้วยหุ้นเทคโนโลยี ฟื้นขึ้น 6% ตั้งแต่เดือนต้นเดือน มิ.ย. ขณะที่ดัชนี Dow Jones ที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหุ้นคุณค่าทรงตัวในแดนลบราว 1% เพราะตลาดคลายความกังวลเรื่องการเร่งตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร เงินเฟ้อ และนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
“การฟื้นตัวของราคาหุ้นกลุ่มเดิบโตดีกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริษัทที่เติบโตกับเมกะเทรนด์ และฟื้นตัวไปกับเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 อย่างโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ Google, Facebook, Twitter, Pinterest เห็นได้จากค่าใช้จ่ายโฆษณาออนไลน์ ปี 63 อยู่ที่ 378.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 62 แต่เริ่มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา
ส่วนแพลตฟอร์มครบวงจรของจีน WeChat, Taobao, Lazada และ Meituan Dianping ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลประมาณ 1,400 ล้านคน และการเข้ามาทุ่มเม็ดเงินทำการตลาดในแพลตฟอร์มเหล่านี้ของบริษัทระดับโลก อย่าง Coca-Cola, Nestle, P&G, Estee Lauder เป็นต้น ทำให้เห็นการฟื้นตัวของโฆษณาออนไลน์และการเดิบโตที่ดีในระยะยาว ดังนั้น Tencent และ Alibaba จึงเป็นหุ้นกลุ่มเทคจากฝั่งจีนที่น่าสนใจ”
หัวหน้าฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ เอเซีย พลัส กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 64)
Tags: ASPS, SET, SET Index, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, ภาดร สุขสวัสดิ์, หุ้นไทย, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, เอเชียพลัส