องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จะจัดการประชุมออนไลน์ในวันนี้ (1 ก.ค.) โดยจะมีผู้นำของประเทศต่างๆจำนวน 139 ประเทศเข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือกันเกี่ยวกับการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก รวมทั้งภาษีที่จะเรียกเก็บจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก
การประชุมระดับคณะทำงานของ OECD มีขึ้นในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการพัฒนากฎระเบียบด้านการจัดเก็บภาษีที่เท่าเทียมกันทั่วโลกสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น กูเกิลและแอปเปิล หากำไรในประเทศที่เก็บภาษีต่ำเพื่อลดภาระการจ่ายภาษีของบริษัท
สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ชาติสมาชิกทั้ง 38 ประเทศของ OECD อาจจะเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดภายหลังการประชุมในครั้งนี้ โดยหากประเทศที่เข้าร่วมประชุมตกลงเห็นพ้องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเก็บภาษีข้ามพรมแดนในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ว่ารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G20 จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 9-10 ก.ค.นี้ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังจากสหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐ พร้อมด้วยสหภาพยุโรป (EU) ได้เห็นพ้องร่วมกับข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐที่ต้องการให้เรียกเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอย่างน้อย 15% ในระหว่างการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน
อย่างไรก็ดี OECD อาจจะเผชิญกับความยากลำบากในการแสวงหาจุดยืนร่วมกันในการเจรจาเกี่ยวกับอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ เมื่อพิจารณาจากเสียงคัดค้านของบางประเทศ รวมถึงฮังการีซึ่งกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลไว้ที่เพียง 9% เพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน และจีนซึ่งออกนโยบายปรับลดภาษีและยกเว้นภาษีให้กับบริษัทที่มีธุรกิจอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 64)
Tags: OECD, ทั่วโลก, ประชุมออนไลน์, ภาษี, ภาษีนิติบุคคล, ยกเว้นภาษี, องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ, เทคโนโลยี