ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า แนวคิดในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกกับเข็มสองสลับยี่ห้อกันเพื่อให้กระตุ้นการสร้างแอนตี้บอดี้ให้ดีมากยิ่งขึ้นนั้น เริ่มมีงานวิจัยในต่างประเทศให้เห็นกันบ้างแล้ว ล่าสุดเป็นการวิจัยสลับยี่ห้อระหว่าง AstraZeneca (ChAd) กับ Pfizer vaccine (BNT) และคาดว่าจะมีงานวิจัยในทำนองนี้ออกมาเรื่อยๆ โดยเป็นการจับคู่วัคซีนหลายยี่ห้อที่มีใช้งานอยู่
“การสลับวัคซีนนั้นปกติจะใช้กับผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ แพทย์จึงจะอนุญาตให้การฉีดเข็มสองเปลี่ยนยี่ห้อได้ แต่กรณีนี้เป็นการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ในการกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น”
นพ.มานพ กล่าว
สำหรับในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีความพร้อมที่จะนำวิธีสลับยี่ห้อมาใช้ เพราะวัคซีนที่มีใช้งานอยู่ในขณะนี้ยังไม่หลากหลายและคิดว่าวัคซีนที่จะนำมาใช้กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ
“หากจะใช้งานจริงต้องมีงานวิจัยรองรับ ไปคิดเองว่าจะสลับใช้วัคซีนยี่ห้อนั้นกับยี่ห้อนี้แล้วจะได้ผลอย่างนั้นคงไม่ได้ ยกเว้นจะมีวัคซีนตรงกับที่มีงานวิจัยไว้แล้ว”
ศ.นพ.มานพ กล่าว
ศ.นพ.มานพ ระบุในเฟซบุ๊คว่า ผลวิจัยสลับวัคซีนเข็มแรก-เข็มสองระหว่าง AstraZeneca (ChAd) กับ Pfizer vaccine (BNT) ของ Com-CoV study สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะ neutralizing antibody (NAb) โดยเป็นข้อมูลสนับสนุนชุดแรกๆ ไล่เลี่ยกับ CombiVacS ของสเปนที่มีผลสอดคล้องกัน
ผลตรวจ NAb ชุดแรกของอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีน ChAd/ChAd, ChAd/BNT, BNT/ChAd และ BNT/BNT ห่างกัน 28 วันจะเห็นชัดว่าหากเปรียบเทียบเฉพาะกลุ่มที่ฉีดวัคซีนสูตรปกติสองเข็มเหมือนกัน อาสาสมัครได้ที่ ChAd สองเข็มกระตุ้นภูมิได้ต่ำกว่า BNT สองเข็มอย่างชัดเจน
ขณะที่กลุ่มอาสาสมัครที่สลับชนิดวัคซีนมีระดับ NAb สูงกว่า ChAd สองเข็มสูตรปกติมาก แต่ยังต่ำกว่า BNT สองเข็มตามสูตรปกติ สรุปปัจจัยสำคัญของสูตรการฉีดวัคซีนว่าจะกระตุ้นการสร้าง NAb ได้มากแค่ไหน อยู่ที่ว่าเรามี Pfizer vaccine (BNT) อยู่ในสูตรหรือไม่
ศ.นพ.มานพ เปรียบเทียบระดับ NAb สำหรับการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อไว้ 4 รูปแบบ คือ
- ฉีดวัคซีน Pfizer ทั้งสองเข็มจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก
- ฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มแรกแล้วตามด้วยวัคซีน Pfizer เข็มสอง จะสร่างภูมิคุ้มกันได้ใกล้เคียงกับฉีดวัคซีน Pfizer ทั้งสองเข็ม
- ฉีดวัคซีน Pfizer เข็มแรกแล้วตามด้วยวัคซีน AstraZeneca เข็มสอง จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่ตามมาแบบห่างๆ
- ฉีดวัคซีน AstraZeneca ทั้งสองเข็ม จะสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่ห่างกันมาก
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า มีข้อจำกัดที่ยังไม่รู้ คือ สาเหตุที่วัคซีน AstraZeneca vaccine (ChAd) กระตุ้นการสร้าง NAb ได้ต่ำกว่ามาก เป็นเพราะระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนสองเข็มกระชั้นเกินไปหรือไม่ เรารู้จากข้อมูลการใช้จริงว่า VE ของ AstraZeneca vaccine จะดีขึ้นมากเมื่อฉีดห่างกัน 3 เดือน ขณะที่ข้อมูลการศึกษาชุดนี้อาสาสมัครฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ คงต้องรอข้อมูลอีกชุดที่คงจะตามมาสำหรับอาสาสมัคร 4 กลุ่มเหมือนเดิมแต่ฉีดสองเข็มห่างกัน 12 สัปดาห์อีกครั้ง
จากการวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีน่าจะมาจากการใช้วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพดี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารควรจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการจัดหาวัคซีนเข้ามาใช้งานว่าควรเลือกซื้อยี่ห้อใดจึงจะคุ้มค่ามากที่สุด
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว 6 ราย ได้แก่
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และส่วนที่ผลิตในประเทศโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
- วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวก ไลฟ์ไซเอ็นซ์ จำกัด
- วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด
- วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
- วัคซีนของซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และ
- วัคซีนโคเมอร์เนตี(COMIRNATY VACCINE) ของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด นำเข้าโดย บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด
ขณะที่มีการนำวัคซีนมาใช้งานแล้ว 3 ยี่ห้อ คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก, วัคซีนซิโนแวกเป็นวัคซีนเสริม และวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนทางเลือกผ่านราชวัทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่วนวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส และวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส มีกำหนดส่งมอบให้รัฐบาลภายในปีนี้ ขณะที่วัคซีนโมเดอร์นานั้นเป็นวัคซีนทางเลือกของภาคเอกชนผ่านองค์การเภสัชกรรม
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศอังกฤษกำลังทดลองการสลับฉีดวัคซีนแต่ละยี่ห้อจากที่มีใช้งานอยู่ 7 ยี่ห้อ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งผลวิจัยที่ออกมาจะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาปรับใช้งานต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 64)
Tags: AstraZeneca, COMIRNATY VACCINE, COVID-19, Johnson & Johnson, Moderna, Pfizer, Sinopharm, Sinovac, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแวก, มานพ พิทักษ์ภากร, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, โคเมอร์เนตี, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์