โบรกเกอร์ มองหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) กำไรยังเติบโตได้ แต่อาจชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก (H1/64) รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศ ส่งผลต่อแนวโน้มของการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 3/64 อาจชะลอตัวลง และยังต้องติดตามในไตรมาส 4/64 การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายลงหรือไม่ หากคลี่คลายลงได้จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ช่วยหนุนความต้องการใช้สินเชื่อในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
ขณะที่ทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่มองว่ากลุ่มธนาคารยังมีความแข็งแกร่ง จากระดับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 150-160% ทำให้การตั้งสำรองฯในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่เป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยด้านนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการหารือกับธนาคารพาณิชยย์เกี่ยวกับการปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลงอีก รวมถึงการปรับลดวงเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ซึ่งจะมีผลต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย
หุ้นกลุ่มธนาคารที่น่าสนใจหลังจากที่ราคาหุ้นได้ย่อตัวลงมา และมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ที่ยังต่ำกว่า 1 เท่า โดยเชียร์หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) จากการตั้งสำรองฯที่สูง และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยที่น้อยกว่าธนาคารอื่น และยังมีธนาคารเพอร์มาตา ในอินโดนีเซียที่เข้ามาหนุนผลการดำเนินงานของ BBL เต็มปี และหุ้นธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ก็น่าสนใจลงทุน จากที่ราคาหุ้นยังไม่ปรับตัวขึ้นสูงมาก และยังมีการจ่ายปันผลสูง อีกทั้งผลงานปีนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเข้ามาช่วยหนุนผลการดำเนินงานของ KKP ในปีนี้ค่อนข้างมาก
หุ้น BBL ปิดเช้าที่ 113 บาท ลดลง 0.50 บาท (-0.44%) ส่วนหุ้น KKP ปิดเช้าที่ 55.75 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | BBL ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) | KKP ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
ทิสโก้ | ซื้อ | 158 | 72 |
กสิกรไทย | ซื้อ | 157 | 72 |
หยวนต้า (ประเทศไทย) | ซื้อ | 150 | 71.5 |
ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) | ซื้อ | 149 | 67 |
เอเซีย พลัส | ซื้อ | 154 | 65 |
โนมูระ พัฒนสิน | ซื้อ | 155 | 66 |
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ | ซื้อ | 151 | 69 |
เคทีบีเอสที | ซื้อ | 150 | 65 |
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะไม่ได้โดดเด่นมากเท่ากับครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าแนวโน้มกำไรของกลุ่มธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผลงานในช่วงไตรมาส 1/64 ของกลุ่มธนาคารที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเริ่มชะลอตัวในช่วงไตรมาส 2/64 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 3
โดยที่ยังคงประมาณการกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ไว้ที่เติบโต 14% จากปีก่อน โดยที่เป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และปีนี้ยังมองภาพการตั้งสำรองฯที่ไม่สูงมากเท่ากับปีก่อน แม้ว่ายังมีความเสี่ยงของการปรับเพิ่มขึ้นของ NPL ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งประเมิน NPL ไว้มีโอกาสแตะ 5% ในปีนี้ โดยที่ในช่วงไตรมาส 1/64 NPL ได้ปรับเพิ่มขึ้นมามาเล็กน้อย 4.1% แต่มองว่าระดับการสำรองฯของกลุ่มธนาคารที่ 150-160% ยังสามารถรองรับความเสี่ยงของ NPL ที่เพิ่มขึ้นโดย
สำหรับปัจจัยในช่วงครึ่งปีหลังของกลุ่มธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าเป็นเรื่องการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/64 ซึ่งจะทำให้การค้าขายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศกลับมา ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการใช้สินเชื่อที่กลับมา แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2/64 การปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/64 แต่มองว่าหากการค้าขายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศกลับมาเปิดได้มากขึ้น จะช่วยผลักดันการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อได้อย่างมีนัยสำคัญ จากความมั่นใจของผู้ประกอบการที่กลับมา โดยที่ยังคงประมาณการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ไว้ที่ 3.5%
นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องติดตามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการพิจารณาขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ออกไปถึงปี 65 หรือไม่ หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ยังไม่คลี่คลายลง ประกอบการกับการพิจารณาปรับลดอัตราการนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอีกหรือไม่ โดยในภาพรวมหุ้นกลุ่มแบงก์ยังมีความน่าสนใจในการลงทุนจากการที่ระดับ P/BV ส่วนใหญ่ยังคงต่ำกว่า 1 เท่า และยังมีโอกาสที่ผลประกอบการจะฟื้นกลับมาหากโควิด-19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดี
โดยหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ที่แนะนำในช่วงครึ่งปีหลังเป็น BBL ที่มีความโดดเด่นจากราคาหุ้นที่ยังถือว่าไม่แพง และยังถือว่ามีอัพไซด์ทของราคาอยู่ อีกทั้งเป็นธนาคารที่มีการตั้งสำรองฯในระดับสูง และทิศทางกำไรยังมีแนวโน้มเติบโตได้ค่อนข้างดี จากการที่กลุ่มลูกค้าของ BBL ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก อีกทั้งยังมีธนาคารเพอร์มาตา ในอินโดนีเซียที่เข้ามาเสริมในปีนี้ทั้งปี ซึ่งทำให้ BBL มีความน่าสนใจในช่วงครึ่งปีหลังนี้
ส่วนหุ้นธนาคารขนาดกลาง-เล็ก แนะนำ KKP จากมูลค่าหุ้นที่ยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับ TISCO ทำให้ KKP มีความน่าสนใจมากขึ้น แม้ว่าการจ่ายเงินปันผลของปี 63 จะลดลงเหลือไม่น้อยกว่า 40% จากเดิมที่ไม่น้อยกว่า 60% แต่มองว่าหากในช่วงปลายปีธปท.มีการพิจารณาให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาจ่ายเงินปันผลได้มากกว่า 50% จะทำให้ KKP ยิ่งมีความน่าสนใจมากขึ้นจากอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงขึ้น และราคาหุ้นยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก
ด้านนายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย มองหุ้นกลุ่มแบงก์ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากการที่หน่วยงานต่างๆมีการปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปีนี้ลดลง ซึ่งจะกดดันต่อทิศทางของผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่อาจจะเริ่มเห็นการชะลอตัวลงได้ในระยะสั้น จากการที่ความมั่นใจของคนลดลง แต่ยังต้องลุ้นในช่วงไตรมาส 4/64 สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงชัดเจน และเริ่มกลับมาเปิดเมืองได้มากขึ้น ก็มีโอกาสที่กลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์ตามมาด้วยจากเศรษฐกิจที่ฟื้น ซึ่งประเมินสินเชื่อของกลุ่มธนาคารในครึ่งปีหลังจะทรงตัวจากครึ่งปีแรกที่หดตัว 1-2%
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามเกี่ยวกับการพิจารณาปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนของสินเชื่อรายย่อย ซึ่งอาจจะส่งผลให้บางธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อรายย่อยในสัดส่วนที่มากได้รับผลกระทบบ้าง และการพิจารณาปรับลดวงเงินนำส่งกองทุน FIDF ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางของผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง โดยที่ในเบื้องต้นยังคงประมาณการเติบโตกำไรของกลุ่มธนาคารในปีนี้ไว้ที่ 10% จากปีก่อน
ด้านแนวโน้มของ NPL ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังไม่เพิ่มขึ้นมาก จากมาตรการการพักชำระหนี้ที่ขยายไปถึงสิ้นปี 64 ซึ่งคาดว่าระดับ NPL ของกลุ่มธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 4-5% อีกทั้งแนวโน้มในการตั้งสำรองฯคาดว่าจะไม่เผชิญกับแรงกดดันมาก เพราะธนาคารหลายแห่งต่างตั้งสำรองฯอยู่ในระดับสูงไปแล้ว ทำให้มีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ในระดับสูงถึง 150% ซึ่งยังมีความแข็งแกร่งและรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้
โดยที่หุ้นกลุ่มธนาคารยังมีความน่านสนใจจากอัพไซด์ที่ยังมีอยู่หลังราคาหุ้นปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก จากกระแสข่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมหารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อพิจารณาปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลง ทำให้ราคาหุ้นย่อตัวลงมา และมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารยังมีความน่าสนใจ
สำหรับหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ที่มองว่าโตเด่นในช่วงครึ่งปีหลังนั้นมองว่า BBL เป็นมีความน่าสนใจมากขึ้น จากการตั้งสำรองฯของ BBL ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงถึง 187% ทำให้สามารถรองรับความเสี่ยงจากการปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยไม่มาก หากมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยอีกครั้ง มองว่า BBL จะไม่ได้รับผลกระทบมาก และยังมีธนาคารเพอร์มาตาในอินโดนีเซียที่เข้ามาเสริมทำให้ผลงานของ BBL ในปีนี้ยังมีความแข็งแกร่ง
ส่วนหุ้นธนาคารขนาดกลาง-เล็ก แนะนำ “ซื้อ” KKP ที่ทิศทางของคุณภาพสินเชื่อดีขึ้นอย่างมาก มีสัดส่วนลูกค้าที่อยู่ในมาตรการพักชำระหนี้น้อยเพียง 3% อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากรายได้จากค่าธรรมเนียมในส่วนของตลาดทุนที่เข้ามาหนุน จากการที่คนหันมาลงทุนเพิ่มขึ้น และการที่ยังมีดีล IPO ออกมา ทำให้ KKP มีรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามาเสริมอย่างโดเด่น และยังเป็นหุ้นที่มีราคา Laggard และให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดี
ส่วนนายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังคงมีความน่าสนใจและแนะนำทยอยซื้อสะสมได้ จากมูลค่าหุ้นที่ถือว่ายังถูก และมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) ที่ยังค่อนข้างต่ำเพียง 0.6-0.7 เท่า และยังเป็นหุ้นที่ยังสามารถลงทุนถือในระยะกลาง-ยาวได้ เพื่อรับเงินปันผลระหว่างกาล และราคาที่ยังมีอัพไซด์ขึ้นได้อีก หากเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนที่หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย
อย่างไรก็ตามในระยะสั้นหุ้นกลุ่มแบงก์อาจจะยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ที่เข้ามากระทบต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้อยู่บ้าง แต่มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากเท่ากับการแพร่ระบาดครั้งแรกเมื่อปีก่อน ซึ่งทิศทางของ NPL ยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งประเมินว่าในภาพรวม NPL จะไม่เกิน 4.5% และปัจจัยด้านการตั้งสำรองฯยังมองว่าไม่เป็นปัจจัยกดดันให้กับกลุ่มธนาคาร เพราะได้มีการตั้งสำรองฯไปสูงมากแล้วตั้งแต่หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งแรก ซึ่งระดับ Coverage Ratio ที่ 150-160% สามารถรองรับความเสี่ยงของ NPL ได้ในระดับที่สูง
ขณะที่การปล่อยสินเชื่อคาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลงมาบ้างตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/64 เป็นต้นมา จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังมีทิศทางทรงตัวในระดับสูง ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อในภาพรวมอาจจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ยังต้องติดตามในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่าทิศทางการแพร่ระบาดโควิด-19 ลดลง และเริ่มมีการกลับมาเปิดกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศได้มากขึ้น ก็มีโอกาสทำให้สินเชื่อกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และยังคงคาดการณ์กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ไว้ที่เติบโต 15%
โดยหุ้นกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ที่เลือกเป็น Top pick ในช่วงครึ่งปีหลัง คือ BBL จากทิศทางของกำไรที่ยังเติบโตโดเด่นในช่วงไตรมาส 2/64 และยังเติบโตขึ้นได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยการตั้งสำรองฯที่ไม่ต้องตั้งสำรองฯมากเหมือนปีก่อนแล้ว และยังเป็นธนาคารที่มีการตั้งสำรองฯในระดับสูง และมองว่ากลุ่มลูกค้าของ BBL จะไม่ได้รับผลระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ ทำให้ไม่เป็นห่วงเรื่องของการเร่งตัวขึ้นของ NPL อีกทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายยิ่ยของธปท.จะไม่ส่งผลกระทบต่อ BBL อย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มาก
ส่วนหุ้นธนาคารขนาดกลและขนาดเล็กเลือก KKP จากราคาหุ้นที่ยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับ TISCO และเป็นหุ้นที่ยังมีการจ่ายเงินปันผลที่สูง อีกทั้ง KKP ยังได้รับปัจจัยหนุนจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ดดเด่นในปีนี้จากธุรกิจตลาดทุนที่มีความคึกคัก ทั้งธุรกิจวาณิชธนกิจ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารจัดการกองทุนรวม ที่มีการเติบโตขึ้อย่างมาก ช่วยหนุนผลงานของ KKP ได้อย่างมีนัยสำคัญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 64)
Tags: BBL, Infographic, KKP, กรกช เสวตร์ครุตมัต, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารพาณิชย์, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนเดช รังษีธนานนท์, ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ, หุ้นกลุ่มธนาคาร, หุ้นแบงก์, หุ้นไทย