สกู๊ตขยายฝูงบินเครื่องบินใหม่ A321neo 16 ลำ มั่นใจธุรกิจการบินในไทยฟื้นเร็ว

สายการบินสกู๊ตของสิงคโปร์ ขยายฝูงบินสั่งซื้อเครื่องบินใหม่รุ่นแอร์บัส A321 Neo จำนวน 16 ลำเสริมทัพ และลงทุนไอทีเตรียมพร้อมกลับมาบิน และตอบโจทย์การเดินทางหลังโควิด-19 เชื่อมั่นประเทศไทยมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจการบินมากสุดในภูมิภาคนี้

นายแคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต เปิดเผยว่า สายการบินสกู๊ตขยายฝูงบินด้วยการสั่งเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A321neo จำนวน 16 ลำ ทั้งในรูปแบบการเช่าและซื้อ ซึ่งแอร์บัสได้ทำการส่งมอบแล้วจำนวน 3 ลำในช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และที่เหลือคาดจะทยอยส่งมอบแล้วเสร็จภายในปี 67

โดย สายการบินสกู๊ต ได้ประเดิมเที่ยวบินแรกจากสิงคโปร์สู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพ ด้วยเที่ยวบินที่ TR610 ในวันที่ 28 มิ.ย.64 และในเดือน ส.ค.64 จะเริ่มให้บริการด้วยเครื่องบินแอร์บัส A321neo ในเส้นทางบินสิงคโปร์-เซบู (ฟิลิปปินส์) และสิงคโปร์-โฮจิมินห์ (เวียดนาม) ซึ่งเครื่องบิน A321neo ลำใหม่สามารถรองรับผู้โดยสาร 236 ที่นั่งให้บริการในชั้นประหยัดเท่านั้น กับผังที่นั่งแบบ 3-3

ปัจจุบันฝูงบินที่ให้บริการของสกู๊ต ประกอบด้วย เครื่องบินแบบมีช่องทางเดินเดียว 29 ลำ ได้แก่ A320ceo 21 ลำ A320neo 5 ลำ และ A321neo 3 ลำ นอกจากนี้ ยังมี A320neo 28 ลำ และ A321neo อีก 13 ลำ ที่กำลังรอการส่งมอบ ส่วนเครื่องบินแบบลำตัวกว้างของสกู๊ตมีจำนวน 20 ลำ เป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787 ทั้งหมด และกำลังรอการส่งมอบเพิ่มอีก 7 ลำ โดยอายุเฉลี่ยของฝูงบินของสกู๊ตในขณะนี้อยู่ที่ 5 ปี 10 เดือน

“A321neo ช่วยให้เราวางแผนการบินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างในช่วงที่มีความต้องการไม่สูงมากนักการบินด้วยโบอิ้ง 787 ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับ A321neo ทำให้การเลือกใช้เครื่องบินเหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารได้ดีขึ้น หรือในช่วงที่ทราฟฟิกสูงขึ้น ก็สามารถปรับเปลี่ยนจาก A320 มาใช้ A321neo ได้ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นถึง 50 คน “ นายแคมป์เบล กล่าว

จุดเด่นเครื่องบินรุ่นใหม่ของสกู๊ต คือ แอร์บัส A321neo มีพิสัยการบินสูงสุดถึง 2,620 ไมล์ทะเล หรือ 4,852 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าเครื่องบินรุ่น A320neo ประมาณ 270 ไมล์ทะเล ทำให้สกู๊ตสามารถให้บริการในเส้นทางบินระยะสั้นถึงระยะกลางได้ ด้วยเวลาบินสูงสุดถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งเทียบกับเครื่องบินรุ่นก่อนอย่าง A320 ที่มีรอบการบินอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง ทำให้สามารถรองรับแผนการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินใหม่ได้มากขึ้นในอนาคต

การที่เครื่องบินแอร์บัส A321neo สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 236 ที่นั่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรุ่น A320neo ถึง 50 ที่นั่ง และยังประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า ทำให้สกู๊ตสามารถบริหารความคุ้นทุนและควบคุมต้นทุนต่อหน่วยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้สายการบินสามารถบริหารจัดการเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางและความต้องการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

การขยายฝูงบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส A321neo ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของสกู๊ตในการยกระดับประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ผ่านฟังก์ชั่นของเครื่องบินลำใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้โดยสารเบาะหนังสีดำพรีเมียม ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะขนาดใหญ่ เทคโนโลยีแสงไฟแบบ Ambient Light ที่สามารถช่วยลดอาการเจ็ทแลค รวมถึงคุณภาพอากาศในห้องโดยสาร และประสิทธิภาพในการลดเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ที่ดียิ่งขึ้น

และในระยะยาว เครื่องบินแอร์บัส A321neo จะช่วยให้สกู๊ตสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น ด้วยปลายปีก Sharklets และเครื่องยนต์อากาศยานแพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ รุ่น PW1100G-JM ที่ช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับบันทึกก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต กล่าวอีกว่า สายการบินสกู๊ตได้เตรียมตัวเพื่อรับการฟื้นตัวของธุรกิจการบินหลังโควิด-19 เพราะมั่นใจว่าสถานการณ์กำลังจะกลับมาสู่ภาวะปกติ บริษัทได้ลงทุนเทคโนโลยีอย่างมากเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของบริการ เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานที่จะให้การบริการเที่ยวบินที่ลดการสัมผัสหรือเกือบไร้สัมผัสผ่านช่องต่างๆ เช่น ช่องทางการเช็คอินออนไลน์ทั้งผ่านเว็บไซด์ แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือการเช็คอินกับแชทบอท รวมถึงคีออสที่ไม่ต้องสัมผัสหน้าจอแทนการติดต่อเคาน์เตอร์ และยังมีพอร์ทัล ScootHub ที่สามารถสั่งอาหารและเครื่องดื่มได้ หรือสินค้าปลอดภาษี นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนขั้นตอนการบริการลูกค้าบางอย่างไปเป็นอัตโนมัติเช่น การคืนเงิน โดยไม่ต้องติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือติดตามสัมภาระที่หายได้ทางออนไลน์แทนติดต่อเจ้าหน้าที่

นอกเหนือจากนี้ สกู๊ตได้ลงทุนระบบการจัดการรายได้พร้อมเครื่องมื่อกำหนดราคาแบบใหม่ มีการใช้เทคโนโลยี AI และ Machine learning พร้อมระบบวางแผนการบินแบบใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าเส้นทางของเครื่องบินของเรามีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้เชื้อเพลิงน้อยลงและปล่อยมลพิษน้อยลง

และระบบจัดการพนักงานแบบใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานดีขึ้น และมีการปรับใช้แชทบอทให้มากขึ้น ทั้งสำหรับลูกค้าและการสื่อสารภายใน

นายแคมป์เบล กล่าวว่า สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ สกู๊ตจึงวางแผนเตรียมความพร้อมที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งภายใต้มาตรการที่เข้มงวด มีการตรวจหาเชื่อโควิดให้กับลูกเรือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร และเตรียมการหลายอย่างเพื่อให้สายการบินพร้อมสำหรับความปกติใหม่นี้ โดยลูกเรือได้รับวัคซีนครบ 100% และยังออกประกันเดินทางที่ให้ความคุ้มครองโควิด-19ในพื้นที่ที่สามารถทำได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้โดยสาร

สกู๊ตมองว่า ทวีปเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากร การเป็นสายการบินราคาประหยัดจะตอบโจทย์ภูมิภาคนี้อย่างมาก ด้วยสินค้าที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามเวลา ขณะที่การฟื้นตัวจากวิกฤตยังคงดำเนินต่อไป แต่สกู๊ตก็จะยังอยู่ในจุดได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของสกู๊ตมาตลอด จึงเห็นว่า สกู๊ตจะต้องมีส่วนในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงวิกฤตโรคระบาด ทั้งนี้ไทยถือเป็นตลาดที่เข้มแข็งสำหรับสกู๊ตซึ่งได้ให้บริการผู้โดยสารจากไทยในการเดินทางไปสู่สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอื่นๆ

โดยสกู๊ตทยอยเปิดเส้นทางที่เคยทำการบิน ซึ่งเปิดแล้ว 26 เมือง จาก 48 เมือง นอกจากนี้ทำการศึกษาการเปิดเส้นทางใหม่ โดยไม่จำกัดว่าจะเริ่มต้นจากสิงคโปร์ ซึ่งจะมาจาก hub อื่นด้วย

“ผมมองว่าประเทศไทยมีโอกาสการเติบโตอย่างมากทั้งตลาด inbound และ outbound ซึ่งเราได้วางแผนเครือข่ายในอนาคคตของเราโดยเฉพาะในประเทศไทย และคิดว่ามีอนาคตที่น่าตื่นเต้นของสกู๊ตรอเราอยู่ที่นี่”

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้ทำการบินเข้าภูเก็ตตามโมเดลภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เพราะสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งเป็นเครือข่ายการบินเดียวกับสกู๊ตได้ทำการบินอยู่แล้ว

ปัจจุบันอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load factor) โดยเฉลี่ย 12-15% ซึ่งค่อนข้างน้อยเทียบกับภาวะปกติ แต่ยังไม่นับรวมคาร์โก้ ที่เข้ามาช่วยสถานการณ์ อย่างไรก็ดี สกู๊ต เป็นสายการบินประหยัดอยู่ในภาวะไม่น่าเป็นห่วง เพราะความต้องการเดินทางเพื่อการพักผ่อน กลับมารวดเร็ว ค่าตั๋ว และค่าดำเนินการค่อนข้างต่ำ ทำให้เรายังคงดำเนินการได้ และคาดว่าจะกลับมาอย่างรวดเร็วจากความต้องการที่มีสูงอยู่

“ผมมั่นใจมากว่า กลับมาอย่างแน่นอน และความต้องการการบินจะมากกว่าช่วงก่อนหน้า ได้วางแผนบินทุกเส้นทาง กรุงเทพ ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ หรือต่างประเทศ เช่น โตเกียว แต่จะกลับมาให้บริการต่างๆ ได้เมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และกฎระเบียบของทางการด้วย”

แผนธุรกิจในไทย 1-2 ปีข้างหน้า คือ การกลับมาบินในเส้นทางบินที่มีและเพิ่มความถี่ ในปัจจุบัน สกู๊ตให้บริการในเส้นทาง สิงคโปร์-กรุงเทพฯ (สนามบินสุวรรณภูมิ) จำนวน 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สกู๊ตกำลังเตรียมการเพื่อที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งด้วยความปลอดภัยและมั่นใจ โดยวางแผนที่จะกลับมาให้บริการในเส้นทาง สิงคโปร์-เชียงใหม่ สิงคโปร์-หาดใหญ่ สิงคโปร์-กระบี่ และ สิงคโปร์-กรุงเทพฯ-โตเกียว เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต กล่าวว่า ขณะนี้สกู๊ตไม่มีแผนลงทุนหรือร่วมทุนกับสายการบินของไทย และสกู๊ตมีความร่วมมือในกลุ่ม value alliance

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top