ผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดพบว่า การนำวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค มาใช้ร่วมกันนั้น จะช่วยกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กำลังขาดแคลนทั่วโลก
ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารการแพทย์ Lancet ระบุว่า การนำวัคซีนของทั้งสองบริษัทมาใช้ร่วมกันนั้น จะช่วยสร้างแอนติบอดี้ที่มีความเข้มข้นสูงมาก ซึ่งจะสามารถป้องกันสไปค์โปรตีน IgG ที่อยู่ในไวรัสโควิด-19 ได้เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์ ซึ่งหมายความว่า หากได้รับวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนของไฟเซอร์-บิออนเทค ตามกำหนดครบทั้งหมด ก็จะสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้
“การศึกษา Com-COV สามารถประเมินได้ว่า การใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ร่วมกันแสดงให้เห็นว่า วัคซีนเหล่านี้สามารถใช้แทนกันได้ และจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัคซีนในอังกฤษและในโครงการฉีดวัคซีนทั่วโลก” ศาสตราจารย์แมทธิว สเนปกล่าว โดยศาสตราจารย์สเนปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และวัคซีนวิทยาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และเป็นหัวหน้าทีมในการทดลองครั้งนี้
“ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้รับวัคซีนทั้งสองชนิดในเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์ตามกำหนด จะสามารถกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า”
ศาสตราจารย์สเนปกล่าว
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเป็นแกนนำในการศึกษา Com-COV ซึ่งดำเนินการโดยสถาบัน National Immunisation Schedule Evaluation Consortium (NISEC) โดยการศึกษาดังกล่าวได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะประเมินความเป็นไปได้ในการใช้วัคซีนที่ต่างกันเพื่อพัฒนาให้เป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Pfizer Biontech, มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, แอนติบอดี้, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, ไฟเซอร์-บิออนเทค