พลังท้องถิ่นไทยจับมือภท. เตรียมยื่นตีความร่างรธน.ฉบับปชป.ปมแก้จำนวนส.ส.

นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย (พลท.) พร้อมด้วย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) แถลงว่าเตรียมจะไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมร่างที่ 13 ในมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่เสนอโดย นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ กับคณะ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในขั้นรับหลักการไปแล้ว เนื่องจากเรื่องนี้ทาง ส.ว.หลายคนก็เกิดความสงสัย ในส่วนของพรรคพลังท้องถิ่นไทยจะหารือกันว่า หากยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นรายบุคคลได้ โดยไม่ต้องให้ประธานรัฐสภาเป็นคนยื่น ทางพรรคก็จะยื่นเอง

นายโกวิทย์ กล่าวว่า ร่างฉบับนี้มีความไม่สมบูรณ์ครบถ้วนในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในมาตราอื่นๆ ซึ่งร่างขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 นี้ไม่ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 86 ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น มาตรา 86 ซึ่งมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคิดคะแนน และการแบ่งเขต รวมถึงการได้มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัด

ซึ่งในมาตรา 86 ที่บัญญัติไว้ถึงจำนวนสมาชิกที่มาจากจังหวัดและเขต 350 เขต ที่ขัดแย้งกับตัวร่างแก้ไขในมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่ผ่านการรับหลักการไป และมีความกังวลว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะดำเนินการต่อไปอย่างไร และ ส.ส.จะแปรญัตติอย่างไร เพราะร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอว่าให้มี ส.ส.เขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งทำให้มีจำนวน ส.ส.เกินจำนวน

นายโกวิทย์ กล่าวว่า กมธ.หลายคนบอกว่าเมื่อรับหลักการไปแล้วก็สามารถแก้ไขได้ในขั้นแปรญัตติ ตนเองขอยืนยันว่าแก้ไม่ได้ หากยังไม่แก้มาตรา 86 ให้สอดคล้องกับจำนวน 400 คน รวมถึงมาตราอื่นๆ ให้มีความสอดคล้องกัน โดยอาจจะพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความก่อนที่ กมธ.จะเดินหน้าพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ

ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 นั้นเกรงว่าจะเป็นการเสนอโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากการแก้มาตรา 83 และ 91 นั้นเป็นสาระสำคัญ และเป็นการทำงานแบบเร่งรีบ ตั้งเป้าขยายเขตเพื่อจะได้มาให้ครบ 400 คน ไม่ได้ดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 60 ทั้งยังไม่มองเป้าประสงค์ของประชาชนว่าต้องการอยู่ดีกินดี ต้องการให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ต้องการให้แก้ปัญหาโควิด-19 เป็นต้น ตนเองเข้าใจว่าพรรคการเมืองต้องการชิงความได้เปรียบในการยกร่างรัฐธรรมนูญและต้องการทำให้พรรคเล็กไม่สามารถเดินเข้าสู่พื้นที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top