นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย” โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว และอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1/66 กว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เท่ากับในระดับที่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
เนื่องจากในการระบาดของโควิด-19 หลายระลอกตั้งแต่ต้นปี 63 ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทั้งการจำกัดการเคลื่อนที่ การงดเดินทาง การเว้นระยะห่าง ลดการรวมตัว เป็นต้น ถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตราคาร บริษัทนำเที่ยว สายการบิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนาน จากการออกใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การเร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง เพิ่งจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อต้นเดือน มิ.ย.64
นายเมธี มองว่า การออกนโยบายและมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ ยังมีความจำเป็นจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา สถานการณ์นี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับภาครัฐและเอกชน
โดยตั้งแต่ต้นปี 63 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ธปท.ได้เร่งออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง ภาระหนี้สินในหลากหลายทางเลือก ตั้งแต่การให้สถาบันการเงินพักหรือชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ การลดเงินต้นและดอกเบี้ย การปรับวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระ การให้สินเชื่อซอฟท์โลนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย
โดยหลังจากนี้ ธปท. จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะกระตุ้นให้สถาบันการเงินดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ เพื่อวางแนวทางสำหรับมาตรการในระยะต่อไป
“เชื่อว่าวิกฤติครั้งนี้ ย่อมที่จะทิ้งรอยแผลเป็นให้ธุรกิจไทยและศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวไทยไปอย่างยาวนาน วัคซีนในที่นี้อาจไม่ได้จำกัดเฉพาะการสร้างภูมิให้บุคคลเพื่อรับมือกับโรคร้ายเพียงอย่างเดียว แต่วัคซีนยังหมายถึงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจหลังโควิด-19 และเตรียมพร้อมกับความผันผวนที่คาดไม่ถึงในอนาคต”
นายเมธี กล่าว
พร้อมระบุว่าการสร้างภูมิในธุรกิจโลกใหม่ต้องไปด้วยกัน 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
1. ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานชีวอนามัยขึ้นสูง ขณะเดียวกันก็ยังต้องการความสะดวกสบายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม
2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ต้องสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจให้สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ การจัดเตรียมบริการที่สอดคล้องกับความชอบของแต่ละบุคคล และ
3. ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ต้องหันมาทบทวนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ การสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การผสมผสานการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง การสร้างบุคคลากรทางวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ เพื่อเปิดรับการท่องเที่ยว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 64)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เมธี สุภาพงษ์, เศรษฐกิจไทย