นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินผลกระทบมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ 30 วันใน 10 จังหวัดต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และระบบสาธารณสุข ว่า มาตรการมีความจำเป็นต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการพังทะลายลงของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ซึ่งมีการติดเชื้อสูง หากปล่อยให้ระบบสาธารณสุขพังทะลายลง ยอดผู้เสียชีวิตจะพุ่งขึ้นทันที การปิดกิจกรรมบางอย่างด้วยมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ จะช่วยทำให้ระบบสาธารสุขสามารถมีเวลาเตรียมการรับมือกับวิกฤตการณ์โควิด-19
ขณะที่รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนคุณภาพสูงให้ประชาชน หากสถานการณ์วิกฤติสุขภาพยังไม่มีทีท่าดีขึ้นกว่านี้ สมควรชะลอการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ไปก่อน ผลกระทบในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เกิดขึ้นทันที แต่ยังจำกัดอยู่ในกิจการรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การชะลอตัวลงของโครงการภาครัฐ ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก การขนส่งคมนาคม
ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินจะเกิดขึ้นทันที โดยคาดว่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลง การอ่อนค่าของเงินบาท สะท้อนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย เงินทุนไหลออก และเม็ดเงินจากภาคท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามที่คาด แม้ส่งออกขยายตัวดีขึ้นแต่ต้องนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักรและวัคซีนจำนวนมาก ทำให้ไทยจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1.5-2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ นับเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบหลายปี ดุลบัญชีเดินสะพัดเมื่อเทียบกับจีดีพีในไตรมาสแรกปีนี้ติดลบ -1.9% (2.6 พันล้านดอลลาร์) โดยค่าเงินบาทอาจอ่อนทะลุ 32.50 บาท/ดอลลาร์ได้ในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 13 เดือน
“การอ่อนค่าของเงินบาท จะไม่ส่งผลให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน มี output Gap สูง ส่วนต่างระหว่างกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นจริงล่าสุด กับประสิทธิภาพที่สามารถผลิตได้จริงค่อนข้างมาก ซึ่งตัวเลขนี้ติดลบเยอะ แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตนั้น ผลิตได้น้อยกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ตีความได้ว่า ผลิตน้อยก็เพราะอุปสงค์ภายในอ่อนแอมากๆ มีคนจำนวนหนึ่งยากจนเฉียบพลันจากการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อจึงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกนาน”
นายอนุสรณ์กล่าว
ส่วนภาคส่งออกที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย แต่จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่นัก ไทยจะยังเผชิญสภาวะอัตราการค้า (Term of Trade) ลดลงในช่วงที่เหลือของปี เช่นที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าราคาส่งออกต่อไป
ในส่วนของตลาดหุ้นนั้น ดัชนีน่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน โดยราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้างน่าจะปรับตัวลงแรงพร้อมกับกลุ่มค้าปลีกและธุรกิจบริการอาหาร กลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มส่งออก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรและอาหาร และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อในตลาดโลก และการอ่อนค่าของเงินบาท มีแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย อาจเข้าทดสอบแนวรับที่ 1,550 จุดในสัปดาห์หน้า
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ผู้ใช้แรงงานรับจ้างรายวันในภาคก่อสร้าง บริการอาหาร และร้านค้าปลีกต่างๆจะได้ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจมากถึงขั้นยากลำบากในการดำรงชีพ บางส่วนอาจเดินทางกลับต่างจังหวัด ซึ่งอาจเกิดการแพร่กระจายของการติดเชื้อจาก 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ การใช้มาตรการสาธารณสุขด้วยการกักตัว หรือล็อกดาวน์ ต้องดำเนินการพร้อมกับมาตรการชดเชยรายได้และอุดหนุนค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ การจ่ายเงินชดเชยเพียง 50% ของค่าแรงรายวันนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและช่วยเหลือครอบครัวในต่างจังหวัด ต้องชดเชยให้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 75% เป็นเวลา 1 เดือน ต้องจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วยมาตรการทางการคลังโดยรัฐบาล
ส่วนกิจการหรือผู้ประกอบการใน 10 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ ควรได้รับความช่วยเหลือด้วยมาตรการทางการเงิน ทั้งการเสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และการพักหนี้สำหรับหนี้ที่มีอยู่เป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือนผ่านกลไกธนาคารของรัฐ ส่วนผู้ที่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์หรือกลุ่ม Non-Bank ให้จัดสรรงบช่วยเหลือด้วยการจ่ายดอกเบี้ยแทนให้ผ่านกลไกธนาคารของรัฐ 3-6 เดือนเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นผลกระทบโดยตรงจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ล่าสุดของรัฐบาล
“การแก้ปัญหาอย่างมียุทธศาสตร์ บูรณาการเชิงระบบ พร้อมเป้าหมายอย่างชัดเจนมีความสำคัญ นอกจากนี้ ต้องสรุปบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวในช่วงที่ผ่านมาในไทยและต่างประเทศ เพื่อไม่ซ้ำรอยความผิดผลาดอีก”
นายอนุสรณ์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 64)
Tags: ตลาดการเงิน, ตลาดหุ้นไทย, ผู้ประกอบการ, มาตรการล็อกดาวน์, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย, แรงงาน