หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้แค่ 1.8% และปี 65 อาจขยายตัวลดลงเหลือ 3.9% สะท้อนการฟื้นตัวที่ชะลอลง และยังคาดการณ์ปีนี้ไทยพลิกขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาดว่าจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศระลอก 3 ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า
ในสถานการณ์เช่นนี้หุ้นกลุ่มหลักที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าเป็นหุ้นกลุ่มส่งออก โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า ทุก ๆ 1 บาท เป็นบวกต่อกลุ่มเกษตร-อาหาร กำไรสุทธิเพิ่ม 3-1% หุ้นเด่น ได้แก่ หุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN), บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER), บมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด (XO) และบมจ. เซ็ปเป้ (SAPPE)
ส่วนกลุ่มชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่ากำไรสุทธิเพิ่ม 3-2% ได้แก่ บมจ.เอสวีไอ (SVI), บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) และบมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE)
ขณะที่ บล.กสิกรไทย แนะนำหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากประเด็นเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงสั้น และมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งได้แก่ TU, ASIAN, KCE และ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ซึ่งมีรายได้จากการส่งออกประมาณ 45-50% ของยอดขาย ส่วน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุ ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 1 ปีมาอยู่ที่ 31.83 บาท/ดอลลลาร์ +1.8% W-W เป็นบวกต่อผู้ส่งออกอย่างอิเล็กทรอนิกส์และอาหาร โดยพบว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเป็นบวกต่อกำไรของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ราว 3-4% เนื่องจากสัดส่วนรายได้ส่งออกมาก ส่วนกลุ่มอาหารเป็นบวกราว 1% เนื่องจากสัดส่วนส่งออกน้อยกว่า และบางรายขายเป็นเงินบาท พร้อมแนะนำ “ซื้อ” TU, บมจ.จีเอฟพีที (GFPT), บมจ.ไทยฟู้ดส์ (TFG), SAPPE ส่วน KCE และ HANA แนะนำ”เก็งกำไร”
นายสุโชติ ถิรวรรณรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาเป็นผลจากการคาดการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง อีกทั้งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปีนี้ลงหลือ 1.8% ก็แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลง ในทางทฤษฏีก็มีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าด้วย
อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก ซึ่งมองหุ้นที่น่าสนใจลงทุนเป็นหุ้น SAT, EPG, HANA, HFT, TU และ ASIAN
ส่วน บล.เคทีบีเอสที ประเมินเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยยังคงแนะนำ “เพิ่มน้ำหนักลงทุน” กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากแนวโน้มความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นอีกปัจจัยบวกต่ออัตราการทำกำไรของกลุ่ม โดยทุก ๆ 1% บาทอ่อนค่าจะเพิ่ม Gross margin ของ HANA +1% และ KCE +0.5% ตามลำดับ อยู่ระหว่างทบทวนราคาเป้าหมายจากปัจจุบัน KCE อยู่ที่ 70.00 บาท และ HANA อยู่ที่ 68.00 บาท
ประเมินคำแนะนำ 5 หุ้นในกลุ่มส่งออกที่น่าสนใจลงทุนในช่วงเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
หุ้น | ราคาปิด(บาท) (24 มิ.ย.64) | ราคาปิด (บาท) (4 ม.ค.64) | ราคาเป้าหมายเฉลี่ย (บาท) |
---|---|---|---|
TU | 19.20 | 13.70 | 19.28 |
CPF | 26.50 | 28.50 | 40.35 |
ASIAN | 15.40 | 6.60 | 18.13 |
HANA | 69.50 | 40.50 | 61.52 |
KCE | 71.25 | 42.50 | 71.91 |
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 64)
Tags: ASIAN, CPF, HANA, KCE, TU, ค่าเงินบาท, ส่งออก, สุโชติ ถิรวรรณรัตน์, หุ้นไทย