พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงข้อเสนอในการล็อกดาวน์พื้นที่กรุงเทพมหานคร 7 วัน ว่า อยู่ระหว่างพิจารณาให้รอบคอบที่สุด เพราะต้องปรึกษาข้อมูลกับทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ ถึงความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ วันนี้ระบาดตรงไหนปิดคลัสเตอร์ตรงนั้น แต่ต้องช่วยกัน
“ผมกำลังคิด ถ้าทำ เจ็บแล้วจบ มันก็ควรทำ ถ้าเจ็บแล้วไม่จบ มันควรหาวิธีการอื่นไหม ทำให้ที่สุด อยู่ที่พวกเราทุกคนปกป้องระวังตัวเอง ผมไม่ได้โทษใคร แต่ทุกคนต้องมีจิตสำนึก”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอให้ปิดประเทศว่า รับฟัง และยืนยันจะทำให้ดีที่สุด ขณะที่ชีวิตต้องเดินหน้า ประชาชนต้องมีรายได้ เบื้องต้นคือเมื่อพบสถานที่ใดที่มีการระบาด ก็จะทำการปิดตรงนั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด ไม่ให้ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ และจะเร่งรัดจัดสรรวัคซีนให้เร็วที่สุดให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่เพิ่มเข้ามา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายประเทศต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และไม่กังวลต่อสถานการณ์ของไทย ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการที่รัดกุมและปลอดภัย ไม่ให้ติดเชื้อกลับไป เช่น ที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเปิดในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เพราะการทำงานต้องมีเป้าหมาย ทั้งเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจควบคู่กันไป ซึ่งหากสามารถนำร่องได้ ก็จะเดินหน้าในหลายพื้นที่ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องหยุด เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ
“มันต้องทำสองอย่าง ไม่ใช่หยุดทั้งหมด นี้คือเป้าหมายที่เราต้องการ การทำงานต้องมีเป้าหมาย ถ้าทำได้ก็ทำได้ ถ้าทำไม่ได้เราก็ต้องหยุด”
พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณแพทย์และพยาบาล ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งทราบว่าเป็นความห่วงใย แต่ขอให้ฟัง ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้วย หากมีข้อสงสัยให้สอบถาม อย่าพูดกันไปมา เพราะจะกลายเป็นคนละทิศละทาง
ส่วนในประเด็นของเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มจำนวนเตียง 100 เตียง รองรับผู้ป่วยหนัก และปรับระดับเตียงผู้ป่วยสีเขียวให้รับผู้ป่วยสีเหลือง และสีเหลืองให้รับผู้ป่วยสีแดงได้ โดยขั้นตอนคือ ต้องหาสถานที่ หาห้องความดันลบ และจัดหาเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ ซึ่งคาดว่าจะเรียบร้อยภายในไม่กี่วัน
ด้านพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาและเสนอมา แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะแจ้งเมื่อใด เมื่อเสนอมามาแล้วต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.พิจารณาว่าจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่
ที่ผ่านมา นายกฯ ก็รับฟังทุกส่วน และเรื่องนี้จำเป็นต้องนำเข้า ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาด้วย โดยสถานการณ์ขณะนี้ มีความเป็นห่วงทั้งการแพร่ระบาดและเตียงรองรับผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอ และห่วงคนทำมาหากิน หากจะล็อกดาวน์ จะดูแลอย่างไรที่จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ห่วงทุกอย่างจึงต้องดูให้รอบด้าน
“ศบค.ดูอยู่ ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เหตุเกิดที่ไซต์งานก่อสร้างและโรงงาน ส่วนจุดที่ประชาชนทำมาหากินทั่วไปยังไม่พบเท่าไร ดังนั้นการพิจารณาต้องรอบคอบทุกด้าน ไม่ใช่รับฟังด้านใดด้านหนึ่ง”
ผู้อำนวยการ ศปก.ศบค.ระบุ
พล.อ.ณัฐพล ย้ำว่า เวลาออกมาตรการในที่หนึ่ง จะต้องพิจารณาภาพรวมทั้งประเทศ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อื่นด้วย ไม่ได้มองเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ด้วย ซึ่งต้องพิจารณาทั้งหมด
พล.อ.ณัฐพล กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องเตียงในการรองรับผู้ป่วยโควิดว่า พยายามเร่งดำเนินการอย่างเต็มขีดความสามารถ ศปก.ศบค.ได้ประสานทุกแห่ง ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเรื่องเตียงให้มากขึ้น ซึ่งวันนี้มีเอกชนเข้ามาช่วย เบื้องต้นจะใช้มณฑลทหารบกที่ 11 แจ้งวัฒนะ ที่ รพ.เอกชน เสนอมาดำเนินการรับผู้ป่วยสีแดงที่อาการหนักประมาณ 50 เตียง และสีเหลือง 50 เตียง คาดว่าภายใน 7 วัน จะปฏิบัติการได้ และพอจะคลี่คลายสถานการณ์ได้
โดยใน 1-2 วันนี้ รพ.สนามพลังแผ่นดินของ รพ.มงกุฏวัฒนะ จะอาสารับผู้ป่วยไว้ส่วนหนึ่ง และจะประสานส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม โดยคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศูนย์โควิด-19 ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานดำเนินการประสานอยู่
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับนพ.ปิยะสกล เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และเรื่องวัคซีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 64)
Tags: กทม., กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, ณัฐพล นาคพาณิชย์, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มาตรการล็อกดาวน์