นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคแลภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลสรุปสถานการณ์เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า จากรายงานจำนวนผู้ฉีดวัคซีนโควิดในประเทศทั้งหมด 7.906 ล้านโดส
ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 21 มิ.ย. 64 พบว่ามีผู้ป่วยที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (การเข้ารับการรักษาใน รพ.อย่างน้อย 3 วัน, การเจ็บป่วยร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต) แบ่งเป็น ดังนี้
- การเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 1,945 คน คิดเป็นอัตรา 24.60 คนต่อแสนโดส
- เสียชีวิต 103 คน คิดเป็นอัตรา 1.30 คนต่อแสนโดส
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ผลการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ กรณีผู้เสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับรายงาน 103 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่ได้รับการพิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว 42 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่าเป็นการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ร่วม ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน หรือการฉีดวัคซีน 20 ราย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ, เลือดออกในสมอง, ลิ่มเลือดอุดตันในปอด, เลือดออกในช่องท้อง เป็นต้น
ส่วนผู้เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีนโควิด อีก 61 คน ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค หรือรอผลการผ่าชันสูตร โดยมี 4 ราย ที่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ คือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และมี 18 ราย ที่เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีนโควิด ที่ได้รับการพิจารณาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว แต่ยังไม่สรุป อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติม
“จำนวนการเสียชีวิตนั้น เมื่อดูผลสรุปสุดท้ายแล้ว จะเป็นเหตุที่ไม่ได้เกี่ยวกับวัคซีน แต่เมื่อมีรายงานก็ต้องเก็บรวบรวมมาทั้งหมด เพื่อแยกแยะหาสาเหตุให้ชัดเจน”
นพ.เฉวตสรร ระบุ
ทั้งนี้ หากแยกออกมาเป็นการฉีดวัคซีน “ซิโนแวก” เข็มแรก 3.37 ล้านโดส จะมีผู้ป่วยที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค โดยรักษาเป็นผู้ป่วยใน 914 คน คิดเป็นอัตรา 27.09 คนต่อแสนโดส และมีผู้เสียชีวิต 44 คน คิดเป็นอัตรา 1.30 คนต่อแสนโดส ส่วนการฉีดเข็มสอง 2.17 ล้านโดส จะมีผู้ป่วยที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค โดยรักษาเป็นผู้ป่วยใน 243 คน คิดเป็นอัตรา 11.16 คนต่อแสนโดส และมีผู้เสียชีวิต 7 คน คิดเป็นอัตรา 0.32 คนต่อแสนโดส
ขณะที่การฉีดวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” เข็มแรก 2.30 ล้านโดส มีผู้ป่วยที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค โดยรักษาเป็นผู้ป่วยใน 782 คน คิดเป็นอัตรา 33.93 คนต่อแสนโดส และมีผู้เสียชีวิต 49 คน คิดเป็นอัตรา 2.13 คนต่อแสนโดส ส่วนการฉีดเข็มสอง 50,915 โดส มีผู้ป่วยที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค โดยรักษาเป็นผู้ป่วยใน 6 คน คิดเป็นอัตรา 11.78 คนต่อแสนโดส และมีผู้เสียชีวิต 1 คน คิดเป็นอัตรา 1.96 คนต่อแสนโดส
สำหรับจำนวนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนที่เข้าเกณฑ์ร้ายแรงสะสม มี 945 ราย พิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วเสร็จ 327 ราย และอยู่ระหว่างติดตามข้อมูลอีก 618 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์อย่างร้ายแรงที่ได้รับการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ 210 คน เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความวิตกกังวลในการฉีดวัคซีน ส่วนอาการที่มาจากวัคซีน เช่นช็อค, แพ้วัคซีน มีอาการทางเส้นประสาท เป็นต้น นอกนั้นเป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ส่วนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนมี 20 ราย และเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนอีก 4 ราย
“สำหรับการเสียชีวิตนั้น 17 รายหลังฉีดวัคซีนซิโนแวก เป็นคนที่สรุปสาเหตุได้ชัดเจนแล้ว ไม่ต้องมีการขอข้อมูลอื่นๆ เพิ่ม ส่วนอีก 3 รายหลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ขณะที่มีอีก 4 รายที่เสียชีวิตหลังจากฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ที่ต้องหาหลักฐานและส่งตรวจเพิ่มเติม”
นพ.เฉวตสรร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Sinovac, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ซิโนแวก, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, เฉวตสรร นามวาท, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19