นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL ให้มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.63 ดังนี้
1.บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน (revolving loan)
- ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจากเดิม 10% เหลือ 5% (ในปี 63-64), 8% (ในปี 65), 10% (ในปี 66) นอกจากนี้ ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้
2.สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment) และ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
- ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน, ผู้ให้บริการอื่นเลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิม เป็นเวลา 6 เดือน
3.สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) ได้แก่ รถมอเตอร์ไซค์ : วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และรถทุกประเภท : วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท และ ลีสซิ่ง (Leasing) มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท
- ผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ พักชำระหนี้เงิน
ต้น เป็นเวลา 6 เดือน
4.สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และ สินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท
- พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย
อนึ่ง สำหรับลูกหนี้ที่ชำระหนี้ได้ตามปกติและไม่ขอรับความช่วยเหลือ ผู้ให้บริการจะให้เงื่อนไขสินเชื่อเป็นการพิเศษความเหมาะสม ส่วนลูกหนี้ที่มีสินเชื่อหลายประเภท สามารถได้รับความช่วยเหลือทุกประเภทตามเงื่อนไข
ทั้งนี้ สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และสิทธิพิเศษเพิ่มเติมได้จากผู้ให้บริการ
นายวิรไท ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL ดังกล่าวนั้น เป็นมาตรการขั้นต่ำที่ ธปท.ได้ดำเนินการร่วมกับ 9 สมาคมที่เป็นผู้ให้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตลอดจนนอนแบงก์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินมีโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะอยู่ด้วย
ซึ่งถ้าเป็นลูกหนี้ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีคำสั่งของภาครัฐให้สถานประกอบการหยุดทำงานนั้น แต่ละสถาบันการเงินจะมีโครงการ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ความช่วยเหลืออยู่
“การที่มีมาตรการขั้นต่ำที่ประกาศในวันนี้ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะมีหลายคนพยายามติดต่อเข้าไปที่สถาบันการเงินเพื่อที่จะเจรจาขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น ทำให้การติดต่อทำได้ยากลำบาก มาตรการขั้นต่ำวันนี้ จะช่วยลดภาระ และช่วยลดความกังวลที่จะต้องชำระค่างวดตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไปด้วย” ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
พร้อมย้ำว่า ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการขั้นต่ำครั้งนี้ รวมทั้งโครงการพิเศษที่แต่ละสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบนี้ จะไม่มีผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ โดยลูกหนี้ยังคงมีสถานะปกติต่อเนื่อง
“ส่วนลูกหนี้รายใดที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ โดยยังได้รับเงินเดือนต่อเนื่อง มีรายได้ประจำ ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ แนะนำว่าควรจะชำระเงินตามเงื่อนไขปกติ ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ จะมีเงื่อนไขพิเศษให้ในช่วงนี้ เพื่อช่วยจูงใจให้ชำระเงินได้ตามปกติ เชื่อมั่นว่ามาตรการเหล่านี้จะลดภาระให้พี่น้องประชาชน และธุรกิจ SMEs ได้มาก ในภาวะที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน”
นายวิรไท ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 63)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ลูกหนี้, วิรไท สันติประภพ, เอ็นพีแอล