นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์สินค้าและบริการต่างๆ (วอร์รูม) ประกอบด้วยหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน รวม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่
- อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ซึ่งมีทั้งบะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม เป็นต้น
- ข้าว
- ปศุสัตว์ ประกอบด้วย ไก่ ไข่ หมู กุ้ง เป็นต้น
- ผลไม้
- วัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เป็นต้น
- เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย
- บริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน (ดิลิเวอร์รี่)
เพื่อให้ประชาชนมีสินค้าที่มีคุณภาพ และเพียงพอกับความต้องการในประเทศในช่วงการระบาดของโควิด-19
“วอร์รูมทั้ง 7 ชุด จะประชุมร่วมกันเพื่อติดตามสถานการณ์ผลิต การแปรรูป การค้า การส่งออก การกระจายสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ดีลิเวอร์รี่ รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวก และจะต้องนำข้อสรุปทั้งหมดมาเสนอต่อที่ประชุมกรอ.พาณิชย์ ภายใน 2-3 วันนี้ ก่อนที่จะกำหนดเป็นมาตรการดำเนินการ เพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนในช่วงของการระบาด เช่น บางสินค้าอาจมีการกันสำรองไว้บางส่วน เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น”
สำหรับปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปสู่ศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) และจากดีซีไปสู่สาขาของห้างต่างๆ นั้น ผู้ผลิตทุกกลุ่มปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะประสานกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการขนส่ง รวมถึงผ่อนผันระยะการห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ามาเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ชั้นในด้วย เพื่อให้การกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ได้เชิญ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ที่มีการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน อย่าง แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, กลุ่มดีลิเวอร์รี่ อย่าง Line Man, GrabFood , Lalamove เป็นต้น รวมถึงกลุ่มสมาร์ทโชห่วย มาหารือเรื่องการจัดส่งสินค้า และปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 63)
Tags: กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพาณิชย์, กักตุนสินค้า, บริโภค, สินค้าอุปโภค, ห้างค้าปลีก, ห้างสรรพสินค้า