- นายกฯ แถลงความจำเป็นเพิ่มมาตรการเข้มข้นหยุดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-ลดผลกระทบเศรษฐกิจ
- นายกฯ ยืนยันไม่ออกคำสั่งปิดร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต
- นายกฯ ระบุจะออกข้อเสนอพึงปฏิบัติสำหรับผู้สูงวัย ห้ามกักตุน ห้ามขึ้นราคาสินค้า และห้ามเสนอข่าวบิดเบือน
- นายกฯ ระบุมาตรการจะเข้มข้นขึ้นอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ขอประชาชนให้ความร่วมมือ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงความจำเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.63 เพื่อแก้ไขปัญหาและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้นซึ่งอาจจะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง จึงขอประชาชนให้ความร่วมมือ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีคำสั่งปิดร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ช่วงเวลาหลายสัปดาห์และหลายเดือนข้างหน้าต่อจากนี้ไป เราอาจจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้าย และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศไทย เราต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมทั้งรายได้ และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ ด้วยความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อหยุดการแพร่ระบาด พร้อมกับลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยตนเองจะเข้ามาบัญชาการการจัดการกับไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติอย่างเต็มตัว ทั้งด้านการป้องกันการระบาด การรักษาพยาบาลไปจนถึงการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยการเป็นผู้นำในภารกิจนี้และรายงานตรงต่อประชาชน
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร อาศัยอำนาจ ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.เป็นต้นไป โดยจะยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้ตั้งไว้แล้วให้เป็นหน่วยงานพิเศษตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการและสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียวเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และขจัดปัญหาการทำงานแบบต่างคนต่างทำของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
- ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
- ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์
- ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการต่างประเทศและการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ
- ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ
รวมทั้ง มีทีมงานจากทุกภาคส่วนเป็นคณะที่ปรึกษา
ศูนย์ดังกล่าวจะประชุมร่วมกันทุกวันเพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลสถานการณ์เป็นภาพเดียวกัน และเมื่อแจกจ่ายงานทุกฝ่ายจะรับทราบแผนงานทั้งหมดไปพร้อมกัน สามารถทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งผู้ที่จะรายงานต่อประชาชน จะต้องเป็นผมหรือผู้ที่ผมมอบหมายเท่านั้น
สำหรับข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง, การปิดสถานที่เสี่ยง ซึ่งปิดไปบ้างแล้ว, การปิดช่องทางเข้าประเทศ, การเสนอข้อพึงปฏิบัติสำหรับ ผู้สูงวัย คนป่วย และเด็ก, การห้ามกักตุนสินค้า, การขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผล หรือ การห้ามเสนอข่าวบิดเบือนจะมีการประกาศตามมาหลังจากที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะไม่มีการปิดร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ข้อกำหนดเหล่านี้ อาจจะสร้างความไม่สะดวกกับประชาชนบ้าง แต่ขอให้ร่วมมือและเสียสละเพื่อส่วนรวม
ทั้งนี้ งานหลัก ๆ ที่จะต้องให้ความสำคัญมากที่สุดและดำเนินการควบคู่กันไป คือ งานป้องกันการระบาดด้วยการควบคุมพื้นที่ ทุกพื้นที่และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น แอพพลิเคชั่น กำหนดโลเคชั่นมาช่วยในการเฝ้าสังเกตอาการ การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยา ฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ จะปรับปรุงให้การสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 กับประชาชนให้มีความถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน โดยสั่งการให้แถลงสถานการณ์และมาตรการต่าง ๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชนเพียงวันละหนึ่งครั้งเพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการบิดเบือนข้อมูลและลดการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ขอยืนยันว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นทางการตรงไปตรงมา โปร่งใส และชัดเจน จากเพียงแหล่งเดียว เป็นประจำทุกวัน
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือให้สื่อมวลชน เพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว ขอให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวันของทีมสื่อสารเฉพาะกิจและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้ social media สามารถร่วมแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องจากการแถลงประจำวัน ช่วยกันรายงาน และต่อต้านการแชร์ข่าวปลอมและใช้ความคิดสร้างสรรค์ของท่าน ช่วยให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยรับรู้และเข้าใจข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวางยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ขอเตือนกลุ่มคนที่จะฉวยโอกาสหาผลประโยชน์บนความทุกข์ร้อนความเป็นความตายของประชาชน อย่าคิดว่าจะหลุดพ้นไปได้ รัฐบาลจะทำทุกทางที่จะใช้กฏหมายจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้ อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และไม่ปรานี การบังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมโรค จะเข้มข้นขึ้นมากทั่วประเทศ ทั้งการเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมายและการเอาผิดข้าราชการและเจ้าพนักงานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
“ขอความร่วมมือและขอให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมทั้ง ปฏิบัติตามนโยบายป้องกันโรคระบาดนี้อย่างเคร่งครัด บางคนอาจจะรู้สึกเสียสิทธิเสรีภาพแต่เป็นการทำเพื่อปกป้องชีวิตของท่านเอง ของครอบครัวของท่าน และของคนไทยทุกคน หากพวกเราเข้าใจ เข้มงวดและจริงจัง ในเวลาไม่นาน มั่นใจว่าพวกเราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้”
นายกรัฐมนตรี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 63)
Tags: COVID-19, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พรกฉุกเฉิน, สถานการณ์ฉุกเฉิน, โควิด-19