โบรกเกอร์ แนะซื้อหุ้นบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จากแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 น่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ตามการใช้งาน DATA ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 น่าจะส่งผลต่อตลาดเติมเงินเป็นหลัก
เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง กระทบต่อกำลังซื้อลดลง ส่วนตลาดรายเดือนคาดผลกระทบยังจำกัด เนื่องจากเป็นลูกค้า Premium ที่ใช้งานประจำ และค่าโทรศัพท์ยังเป็นปัจจัย 5 และเป็นค่าใช้จ่ายท้าย ๆ ที่ผู้บริโภคเลือกจะตัดลด ทำให้คาดว่ารายได้ทั้งปี 63 ของ ADVANC น่าจะยังทำให้ใกล้เคียงกับปีก่อน
อย่างไรก็ตามให้หาจังหวะเข้าซื้อ หุ้น ADVANC เนื่องจากภาวะตลาดที่ค่อนข้างผันผวนจากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่าราคาเป้าหมายทำให้มีความน่าสนใจลงทุน
ช่วงบ่ายราคาหุ้น ADVANC อยู่ที่ 193 บาท เพิ่มขึ้น 5 บาท หรือ 2.66% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 1.33%
น.ส.ญานินท์ อภิชาติสกุลวงศ์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางภาครัฐก็มีแนวทางให้เริ่มมีการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ทำให้มองว่า ADVANC น่าจะได้รับประโยชน์ดังกล่าว จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายที่ครอบคลุมการใช้งานมากที่สุดในไทย ทั้งโทรศัพท์มือถือและเน็ตบ้าน หรือ AIS Fibre ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในการให้บริการ แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อหมายเลข (ARPU) อาจจะไม่ได้เติบโตโดดเด่น เนื่องจากการออกแพ็คเกจ AIS WORKING FROM HOME ส่วนใหญ่เป็นแพ็คเกจที่สนับสนุนการทำงานที่บ้านในช่วงนี้ ซึ่งคิดค่าบริการไม่ได้สูงมาก และยังมีการลดราคาแพ็คเกจลงจากเดิมด้วย
ทั้งนี้ มองแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 1/63 คาดว่าจะเติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 ตามการใช้งาน DATA ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยทางฝ่ายวิเคาราะห์ฯ ยังคงคำแนะนำซื้อ จากพื้นฐานที่ยังคงถือได้ แนะนักลงทุนให้หาจังหวะในการเข้าซื้อ เนื่องจากยอมรับว่าภาวะตลาดในปัจจุบันค่อนข้างผันผวน และ ADVANC ถือเป็นหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ที่นักลงทุนสถาบันถืออยู่ค่อนข้างมาก
ส่วนปัจจัยความเสี่ยงของธุรกิจในปีนี้ คือ เรื่องของการลงทุน 5G ภายหลังที่ได้ประมูลคลื่นความถี่ 5G ผ่านไปเรียบร้อยแล้วทำให้ ADVANC เป็นผู้นำอันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม แต่ ณ ตอนนี้ ADVANC ยังไม่มีการเปิดเผยแผน หรือเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกมา แต่อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ Sentiment ADVANC ถือเป็นผู้นำในตลาด ซึ่งน่าจะเติบโตได้เมื่อเทียบกับปีก่อน
นาย พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินในไตรมาส 1/63 ได้รับผลกระทบจากยอดการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ลดลงยังไม่มาก และเป็นช่วงของการเพิ่งเริ่ม Work From Home ในครึ่งไตรมาสหลังแล้ว โดยเดือนม.ค.ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เดือนก.พ.เริ่มมีผลกระทบ และในเดือนมี.ค.เริ่มเห็นผลกระทบ ซึ่งโดยรวมไตรมาสนี้ยังปกติ และน่าจะเติบโตได้อยู่
โดยไตรมาส 2/63 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ลดลงมากที่สุด หรือเรียกได้ว่าเป็นไตรมาสที่แย่ที่สุดของปี เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และมาตรการภาครัฐ ที่มีการปิดสถานที่ต่างๆ เป็นเวลานานหลายวัน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่หาเช้ากินค่ำ ที่มีรายได้เป็นรายวัน ทำไห้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย เช่น จากเดิมที่เคยเติมเงิน 100 บาท เปลี่ยนเป็นเติมเงินลดลง หรือไม่เติมเงินเลย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูมาตรการภาครัฐ ว่าจะออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนได้ถูกจุดหรือไม่
ขณะที่ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 นี้ คาดว่าน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ ทำให้ทั้งปี 63 คาดรายได้ของ ADVANC น่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่กำไรขึ้นอยู่กับความสามารถการบริหารต้นทุน แต่เชื่อว่าจะดูดีกว่าหลายกลุ่ม
“เรายังแนะนำซื้อ โดยหาจังหวะตลาดขึ้นต้องขาย ลงต้องซื้อ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มียาต้านไวรัสออกมา ถ้าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจมีผลกระทบต่อการจ่ายปันผลในอนาคต เนื่องด้วยบริษัทต้องถือเงินสดเอาไว้”
นายพิสุทธิ์ กล่าว
ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อ ADVANC ในเบื้องต้นคาดจะถูกกระทบหลัก ๆ ในตลาดเติมเงิน (Prepaid) เนื่องด้วยตลาด Prepaid พึ่งพิงรายได้จากต่างจังหวัดเป็นหลัก และมีการเติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เมื่อ GDP ไทยส่งสัญญาณเติบโตต่ำ จนถึงอาจติดลบในปีนี้ ย่อมสะท้อนภาพกำลังซื้อที่หดตัว ดังนั้น แม้ว่าการใช้งาน DATA อาจเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงโรคระบาด แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอ ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาลากยาว ซึ่งเริ่มเห็น Unlimited package ในตลาด Prepaid ที่ราคาเริ่มต้น 100 บาท จากก่อนหน้าที่ระดับ 150 บาท ทำให้สมมติฐาน ARPU ฟื้นตัวในปี 63 อาจไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้การที่บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) รายงานนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลง 27% ในเดือนก.พ.63 และ 48% ในวันที่ 1-14 มี.ค.63 สะท้อนภาพรายได้จาก Traveler SIM (นักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อ SIM Prepaid ใช้ระยะสั้นภายในประเทศไทย) ที่หดตัวลง โดยปกติรายได้ Traveler SIM จะคิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งหมด และบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ Prepaid ขณะที่การเดินทางที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้ Roaming Revenue ลดลงเช่นกัน
ขณะที่ตลาดรายเดือน (Postpaid) คาดจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากเป็นลูกค้า Premium ที่ใช้งานประจำ และค่าโทรศัพท์ยังเป็นปัจจัย 5 และเป็นค่าใช้จ่ายท้ายๆ ที่ผู้บริโภคเลือกจะตัดลด ทำให้คาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายของ ADVANC จะถูกกระทบจากโควิด-19 ราว 3% จึงปรับลดประมาณการเติบโตรายได้ในปี 63 จากโต 3% เป็นโต 0% จากปีก่อน และคาดกำไรปกติที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.6% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตามภายใต้สมมติฐานรายได้ไม่เติบโต ซึ่งเป็นแบบอนุรักษ์นิยมแล้ว ยังให้ ADVANC เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มมือถือ และเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับสู้กับภาวะตลาดที่ผันผวน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 63)
Tags: ADVANC, AIS, AOT, Consensus, กสิกรไทย, ญานินท์ อภิชาติสกุลวงศ์, ท่าอากาศยานไทย, พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์, ฟิลลิป, หยวนต้า, เอไอเอส, แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส