นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ร่วงลงแรงเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตอบรับปัจจัยลบหลักคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SEY Index) ภาคเช้าปรับตัวลงไปแรงกว่า 80 จุด และภาคบ่ายลงลึกไปถึง 90.19 จุด หรือลดลง 8% มาที่ 1,037.05 จุด เมื่อเวลา 15.25 น.เข้าเกณฑ์หยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker Level 1) และวันนี้ดัชนีปิดที่ระดับ 1,024.46 จุด ลดลง 102.78 จุด (-9.12%) โดยเป็นการปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก ที่ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง คือการที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศปิดสถานที่บางสถานที่ ซึ่งกระทบกับหุ้นในกลุ่มห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารต่างๆ ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปัจจัยถัดมาคือราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอีกราว 10% จากการที่ประเทศสหรัฐ และประเทศซาอุดีอาระเบียไม่สามารถตกลงกันได้ ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีมากขึ้น ส่งผลให้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการที่ ตลท.ปรับเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker Level 1) มาเป็น 8% เห็นได้ว่าอย่างน้อยส่งผลให้ SET Index วันนี้ไม่ได้ปรับลดลงไปจนถึงระดับ 10% ที่เป็นเกณฑ์เดิม ซึ่งถือเป็นข่าวดีว่ามาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยบวกเกี่ยวกับมาตรการดูแลตลาดทุน โดยเฉพาะในส่วนของตลาดตราสารหนี้ออกมาจาก 3 หน่วยงานหลักของประเทศ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดตราสารหนี้มีผู้เข้าไปดูแลอย่างครบถ้วนแล้ว
นายภากร ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นว่า ปัจจุบันมาตรการต่างๆ ที่ใช้ยังถือว่ามีประสิทธิภาพ โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังจากมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาก็มีความเคลื่อนไหวน้อยกว่าดัชนีตลาดหุ้นอื่นๆแล้ว ส่วนมาตรการอื่น ๆ จะมีการพิจารณาเป็นระดับ ๆ ไป
“ที่ผ่านมาภาครัฐได้ใช้ยาแรงแล้วที่จะเข้ามาช่วยหนุนให้การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสให้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลท. เองยังมีอีกหลายมาตรการที่อยู่ระหว่างการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยปัจจุบันเป็นการรอระยะเวลาเพื่อที่จะได้รับข่าวดีใหม่ๆเข้ามา และการวิเคราะห์ราคาเหมาะสม เพื่อที่จะให้ดัชนีกลับมาฟื้นตัว”
นายภากร กล่าว
นายภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสุดท้ายที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการนั้นจะต้องมาจากภาคธนาคารพาณิชย์มีการปิดการให้บริการ แต่หากเป็นเหตุผลอื่นไม่มีนโยบายในการที่จะปิดการซื้อขายแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 63)
Tags: ตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหุ้นไทย, ภากร ปีตธวัชชัย, หุ้นไทย, เซอร์กิต เบรกเกอร์