ส่งออกไทย ก.พ.63 กลับมาหดตัว -4.47%

  • กระทรวงพาณิชย์ เผยมูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. หดตัว -4.47% โดย 2 เดือนแรกปี 63 หดตัว -0.81%
  • การนำเข้าเดือน ก.พ. 63 หดตัว -4.30% โดยการนำเข้า 2 เดือนแรกปี 63 หดตัว -6.32%
  • สำหรับดุลการค้าเดือน ก.พ. 63 เกินดุล 3,897 ล้านเหรียญฯ โดยดุลการค้า 2 เดือนแรกปี 63 เกินดุล 2,341 ล้านเหรียญฯ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.พ.63 โดยการส่งออกมีมูลค่า 20,641.8 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาหดตัว -4.47% จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -11 ถึง -10.9% (หากหักน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทโธปกรณ์ การส่งออกจะขยายตัว 1.5%) ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 16,744 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -4.30% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 3,897 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับภาพรวมช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออก มีมูลค่า 40,267 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.81% ส่วนนำเข้า มีมูลค่า 37,925 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -6.32% ดุลการค้าเกินดุล 2,341 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะงักลง กระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของหลายประเทศรวมถึงไทย ซึ่งมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนก.พ.63 ที่ 20,642 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.47% นั้น ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ทรงตัวและมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในเดือนนี้ หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ จะพบว่าการส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 1.51%

ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนนี้ มาจากปัจจัยระยะสั้นที่สำคัญ คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงไปมาก ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปอีกระยะหนึ่ง

“จากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของจีน เพราะระบบโลจิสติกส์มีปัญหาหยุดชะงัก ไม่สามารถนำสินค้าเข้าไปขายได้ในช่วงที่จีนปิดเมือง ทั้งสินค้าเกษตร และอาหาร แต่ไม่ใช่เหตุผลจากที่ demand ลดลง ดังนั้นคาดว่าเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในจีนคลี่คลายแล้ว การส่งสินค้าเข้าไปในจีนก็จะทำได้ดีขึ้น”

ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีจุดแข็งทั้งด้านความหลากหลายของสินค้าและการกระจายตัวของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ผ่านความท้าทายนี้ไปได้ ขณะที่การส่งออกสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น เช่น เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ในบ้าน ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตอบสนองแนวโน้มความต้องการความมั่นคงทางอาหารและสินค้าจำเป็นอื่นๆ เพื่อการยังชีพที่ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ของโรคระบาดนี้ ประกอบกับภาพลักษณ์ของไทยที่ยังเป็นครัวโลกที่มีมาตรฐานและการยอมรับในระดับสากล

สำหรับการส่งออกของไทยไปตลาดสำคัญหลายตลาดปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังมีหลายตลาดที่ขยายตัว เช่น สหภาพยุโรป, อาเซียน, ตะวันออกกลาง, CLMV เป็นต้น

น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.63 ว่า อาจจะยังไม่เห็นมูลค่าการส่งออกที่เป็นบวก แต่อาจจะติดลบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าตั้งแต่ปลายเดือนก.พ. ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว

พร้อมเชื่อว่า ด้วยศักยภาพการส่งออกที่เข้มแข็งของไทย ยังมีโอกาสที่จะเห็นมูลค่าการส่งออกในปีนี้ไม่ติดลบ ซึ่งจะต้องส่งออกต่อเดือนได้ไม่ต่ำกว่า 20,598 ล้านดอลลาร์

“เรายังมีความสามารถที่จะทำให้การส่งออกเป็นบวกได้ ขอให้เกิน 20,598 ดอลลาร์ทุกเดือนที่เหลือ ก็จะได้ 0% เป็นอย่างน้อย แต่หากจะให้ขยายตัวได้ถึง 2% มูลค่าการส่งออกต่อเดือนทำได้ 21,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป”

น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top