นายแอบโดลรีซา แอบบาสเซียน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า มาตรการปิดเมืองและการแห่ซื้ออาหารเพื่อกักตุนอย่างตื่นตระหนก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารทั่วโลก โดยจะทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น แม้ว่ายังคงมีธัญพืชและเมล็ดพืชให้น้ำมันปริมาณมากในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ตาม
นายแอบบาสเซียนกล่าวว่า การสั่งซื้ออย่างตื่นตระหนกจากผู้นำเข้ารายใหญ่ อาทิ โรงงานหรือรัฐบาล จะสร้างวิกฤตด้านอาหาร ซึ่งไม่ใช่ประเด็นด้านอุปทาน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร หากผู้ซื้อจำนวนมากคิดว่า พวกเขาจะไม่ได้รับการส่งมอบข้าวสาลีหรือข้าวในเดือนพ.ค.หรือมิ.ย. นั่นก็อาจนำไปสู่วิกฤตอุปทานด้านอาหารระดับโลก
สัญญาข้าวสาลีในตลาดชิคาโกพุ่งขึ้นมากกว่า 6% แล้วในสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 9 เดือน ขณะที่ราคาข้าวในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2556
มาตรการปิดชายแดนของบางประเทศในสหภาพยุโรป (EU) เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานอาหารด้วย
บรรดาผู้บริโภคทั่วโลกได้เข้าคิวซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อกักตุนอาหารและของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อาทิ ข้าว, ยาฆ่าเชื้อสำหรับทำความสะอาดมือ และกระดาษชำระ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มี.ค. 63)
Tags: COVID-19, FAO, กักตุนอาหาร, ปิดเมือง, องค์การอาหารและเกษตร, โควิด-19