คอลัมน์ Stock Watch: SKY มุ่งสู่ ‘New S-Curve’ วางเป้า 5 ปีโตเท่าตัว ดันรายได้ทะลุ 1 หมื่นลบ.

บมจ.สกาย ไอซีที (SKY) วางเป้า 5 ปีผลักดันรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท หลังกวาดงานทั้งภาครัฐและเอกชนหนุนให้งานในมือ (backlog) พุ่งกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งมีกำหนดทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 3-5 ปี พร้อมทั้งเตรียมเข้าประมูลงานใหม่ในปี 63 เบื้องต้นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท จึงคาดว่าปีนี้รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% เป็นการเติบโตก้าวกระโดดต่อเนื่องจากปี 62 หลังจากปรับโครงสร้างและพลิกโฉมธุรกิจโมเดลใหม่

SKY หรือชื่อเดิมคือ บมจ.ซีซีเอ็น-เทค (CCN) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ และธุรกิจหลักตั้งแต่เดือน เม.ย.60 กลายเป็นหนึ่งในหุ้นดาวเด่นที่ถูกจับตาว่าปัจจัยพื้นฐานของผลประกอบการในอนาคตจะสามารถนำพาให้ราคาหุ้น SKY ทะยานไปได้อีกไกลแค่ไหน

ย้อนอดีตหุ้น SKY จากจุดต่ำสุดในเดือน เม.ย.60 อยู่ที่ระดับ 4.58 บาท ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบจุดสูงสุดใหม่ช่วงเดือน มี.ค.61 ที่ระดับ 19.70 บาท ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 330% แม้ว่าปัจจุบันราคาหุ้น SKY อาจจะปรับตัวลดลงมาเคลื่อนไหวแถวบริเวณ 14.00 บาท บวก/ลบ แต่ยังเป็นหนึ่งในหุ้นที่สามารถสร้างรีเทิร์นให้กับนักลงทุนสูงในระยะเวลาอันสั้น

นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SKY กล่าวว่า ราคาหุ้น SKY ปรับเปลี่ยนตามปัจจัยพื้นฐานของผลประกอบการบริษัท นับตั้งแต่ปี 60 ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น พร้อมปรับวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน โดยมุ่งเน้นความสำคัญในการรับงานขนาดใหญ่ของภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เครือข่าย และ WiFi รวมไปถึงระบบด้านความปลอดภัยต่างๆ เช่น Smart Security ระบบ CCTV System ระบบ Access Control รวมไปถึงระบบ Fire Alarm ที่มีมูลค่าการเติบโตสูงมากในอนาคต

“จุดเริ่มต้นของ SKY ตั้งแต่ปี 60 เรามองเห็นในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ในโปรเจ็คต์ Smart Security จึงมาโฟกัสงานขนาดใหญ่ ช่วยให้ผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวางระบบบริหารจัดการด้าน Smart Security เช่น งานติดตั้งกล้องวงจรปิดระบบ CCTV ที่มีระบบการจัดการทันสมัย การตรวจจับและจดจำใบหน้าคนเดินไปมา ระบบควบคุมการเข้าออกของคนตามอาคาร เชื่อว่างานด้าน Smart Security กำลังเป็นที่ต้องการ และมีแนวโน้มการเติบโตสูงมากในอนาคต เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประเทศต้องให้ความสำคัญ ในทุกอาคารไม่ว่าเป็นเอกชนหรือภาครัฐต้องมีการอัพเกรดเทคโนโลยีอุปกรณ์ให้มีความทันสมัย ช่วยผลักดันให้ธุรกิจหลักของบริษัทเติบโตระยะยาว ข้อมูลเชิงสถิติพบว่าในระดับโลกอุตสาหกรรมนี้เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี แต่ย้อนมองในโซนเอเชียเติบโตเฉลี่ย 8% ถ้ามองโอกาสเติบโตในประเทศเชื่อว่าเติบโตมากกว่านั้นแน่นอน”นายสิทธิเดช กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”

ลุยธุรกิจ Digital Platform ทรานฟอร์มสู่ Big Data

นายสิทธิเดช กล่าวว่า ในปี 63 จุดพลิกผันของ SKY มาจากจุดเริ่มต้นการเข้าเป็นคู่สัญญากับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ให้บริการ “AOT Mobile Application” อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ส.ค.62 และให้บริการฟรี WiFi ในสนามบิน 6 แห่ง โดยเป็นคู่สัญญาสัมปทานระยะเวลา 10 ปี ประกอบด้วย สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่

“AOT Mobile Application” ประกอบด้วย บริการต่าง ๆ ที่ให้แก่ผู้เข้ามาใช้สนามบิน ทั้งข้อมูลตารางบิน ที่จอดรถ ,เลาจน์ในสนามบิน และแลกเปลี่ยนยอดสะสมคะแนนมาใช้เป็นส่วนลดต่างๆ ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในสนามบิน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเบื้องต้นจะมีผู้เข้าใช้บริการ “AOT Mobile Application” 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 1% ของจำนวนผู้โดยสารเข้าและออกสนามบิน 6 แห่งที่มีกว่า 141 ล้านคน

“โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนของบริษัททั้งหมด ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้รับเป็นลักษณะรายได้เข้ามาทุกๆ Transition ที่ผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ บริษัทวางแผนต่อยอดการให้บริการให้มีความหลากหลายอย่างครบวงจรมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากบริษัทสามารถเก็บข้อมูลผู้โดยสารเข้าและออกสนามบิน 6 แห่งได้อย่างน้อย 1% ยิ่งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจอีกมาก เพราะผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการใน “AOT Mobile Application” มองสิ่งนี้ว่าเป็น Gold Database หรือเป็น Big Data มีมูลค่ามหาศาลสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี กระบวนการหลังจากได้ Big Data มาแล้วก็จะนำไปให้ AI เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อสามารถทำการตลาดให้เหมาะสมกับผู้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งขั้นตอนต่างๆจะร่วมกับภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ครอบคลุมกับความต้องการของประชาชนทั่วไปที่จะเข้ามาใช้บริการอีกด้วย”

ปี 63 ประมูลงานใหม่ไม่ต่ำกว่า 3 พันลบ. หนุนรายได้โตเกิน 50%

นายสิทธิเดช กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในปี 63 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% เกิดจากการรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ราว 4 พันล้านบาท ซึ่งมีกำหนดทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปี เบื้องต้นบริษัทมีแผนเข้าประมูลงานใหม่มีเป้าหมายได้รับงานใหม่มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท เพื่อเข้ามาเสริมกับ Backlog สร้างการเติบโตรายได้ในระยะถัดไป

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/62 เตรียมรับรู้รายได้เข้ามาราว 400-500 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ทั้งปี 62 จะเติบโตก้าวกระโดดเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในแง่ของศักยภาพทำกำไรโครงการบริษัทมีเป้าหมายรักษาอัตรากำไรสุทธิให้ได้ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมที่ 5-7% เป็นงานขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทแสดงให้เห็นแล้วว่ามีความเชี่ยวชาญและส่งมอบโครงการต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากงานภาครัฐแล้ว บริษัทยังมาขยายงานในส่วนภาคเอกชนในธุรกิจ Smart Security อาทิ ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล โรงงาน สถานศึกษา และที่อยู่อาศัย ช่วยให้บริษัทสร้างรายได้ประจำ (Recurring income) สร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นลักษณะให้เอกชนเช่าซื้อ และบริษัทจะเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ เก็บค่าบริการแบบรายเดือน

เป้า 5 ปีรายได้ทะลุ 1 หมื่นลบ.

นายสิทธิเดช กล่าวอีกว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี (63-67) ข้างหน้าตั้งเป้ารายได้เติบโตมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โครงสร้างรายได้กระจายเข้าสู่งานภาคเอกชนมากขึ้นคาดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50% ประกอบด้วยธุรกิจ Digital Platform และ Smart Security ส่วนรายได้จากโครงการภาครัฐจะลดลงมาอยู่ที่ราว 50% จากปัจจุบันอยู่เกือบ 90%

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมองว่าต้องมาติดตามตัวแปรต่างๆ ที่จะเข้ามาส่งผลกับธุรกิจ เช่น นโยบายรัฐบาลจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีอย่างไร และคลื่น 5G ที่กำลังจะมาถึงจะเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมใดบ้าง บริษัทมีหน้าที่ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

“เรื่องความสามารถทำกำไร เป็นสิ่งที่ท้าทายกับทุกองค์กร ยกตัวอย่างว่าในอดีตปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปัจจุบันไม่มีอีกต่อไป เพราะปลาใหญ่ยิ่งกินปลาเล็กยิ่งอ้วนมากเท่านั้น แต่ปลาไหนที่คิดก่อน ว่ายเร็วกว่าจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งการที่ว่ายเร็วนั้นจำเป็นต้องคล่องตัว ต้องไม่อ้วน ต้องมีนวัตกรรม วันนี้โลกธุรกิจกำลังจะเปลี่ยนไป” นายสิทธิเดช กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ม.ค. 63)

Back to Top