โบรกเกอร์ แนะนำ”ซื้อ” หุ้นบมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) หลังมองเศรษฐกิจยังชะลอต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อJMT ที่จะสามารถซื้อหนี้เข้ามาบริหารในพอร์ตเพิ่มขึ้น หลังแนวโน้ม NPL ที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงินก็จะทำให้มีการขายหนี้ออกมาเพื่อรักษาระดับ NPL ไม่ให้สูงมากเกินไป หนุนพอร์ตบริหารหนี้ของ JMT เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน
ขณะเดียวกันคาดว่า JMT ยังมีการบริหารจัดการเก็บหนี้ได้ดี แม้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บ้างก็ตาม ส่วนธุรกิจประกันได้ปรับการดำเนินธุรกิจที่ไม่เน้นขยายลูกค้ามากขึ้น และเริ่มปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์นอกกลุ่มรถยนต์มากขึ้น เพื่อลดอัตราการเคลมประกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ส่งผลให้ธุรกิจประกันจะพลิกกลับมามีกำไรได้ในครึ่งปีหลัง ช่วยหนุนภาพรวมของผลการดำเนินงานในปีนี้
ราคาหุ้น JMT ช่วงบ่ายอยู่ที่ 14.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท หรือ 5.15% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.29%
นายเอกชัย ธาราพรทิพย์ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” JMT ราคาเป้าหมาย 21.60 บาท/หุ้น จากแนวโน้มของโอกาสการเข้าซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้มากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ จะขายหนี้ออกมามากขึ้น เพื่อบริหารระดับหนี้เสียให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสามารถบริหารจัดการได้ โดย JMT ได้วางงบซื้อหนี้ไว้สูงสุดถึง 6 พันล้านบาท เพื่อรองรับหากมีการประกาศขายหนี้ออกมามากขึ้น ทำให้สามารถขยายพอร์ตหนี้เพิ่มขึ้นอีก 20% ในปีนี้
ขณะที่การจัดเก็บหนี้ในปีนี้มองว่าต้องติดตามภาวะในช่วงเดือนมี.ค.ว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากที่เศรษฐกิจชะลอตัวมาต่อเนื่อง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากการจัดเก็บหนี้ยังคงเป็นไปตามปกติเหมือนอย่างช่วง 2 เดือนแรกของปี คาดว่ายอดจัดเก็บหนี้ของ JMT ในปีนี้จะทำได้ราว 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่จัดเก็บหนี้ได้ 3.2 พันล้านบาท ประกอบกับยังมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มของธุรกิจประกันที่คาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นกำไรในช่วงครึ่งปีหลัง จากการปรับพอร์ตของประกันที่เน้นประกันนอกกลุ่มรถยนต์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเคลมลง ส่งผลให้ธุรกิจประกันจะพลิกกลับมาเป็นกำไร ช่วยหนุนผลการดำเนินงานได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส แนะนำ “ซื้อ” JMT ราคาเป้าหมาย 21.80 บาท/หุ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นปัจจัยหนุนต่อธุรกิจที่จะสามารถซื้อหนี้เข้ามาบริหารในพอร์ตได้เพิ่มขึ้นอีก จากแนวโน้มระดับ NPL ของสถาบันการเงินที่อาจจะเพิ่มขึ้นสูง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้คาดว่าจะมีการขายมูลหนี้ออกมามากขึ้นในปีนี้ ทำให้พอร์ตหนี้ NPL ที่ JMT บริหารจะเติบโตได้ราว 15% จากปีก่อนที่ 1.74 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนิน
ขณะที่สถานการณ์การจัดเก็บหนี้ยังต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไรในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะลูกหนี้บางรายอาจได้รับผลกระทบและมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง แต่เชื่อว่าจากความเชี่ยวชาญของ JMT จะยังสามารถบริหารจัดการการจัดเก็บหนี้ได้อย่างดี ส่วนธุรกิจประกันที่ยังเป็นแรงกดดันผลการดำเนินงานนั้น คาดว่าหากสามารถปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ประกันมาที่นอกกลุ่มรถยนต์มากขึ้น จะช่วยให้อัตราการเคลมลดลง ส่งผลบวกต่อค่าใช้จ่ายที่ลดลง และทำให้ธุรกิจประกันจะกลับมามีกำไรในช่วงครึ่งปีหลัง ช่วยหนุนผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังที่มีโอกาสดีกว่าครึ่งปีแรก
นักวิเคราะห์บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” JMT ราคาเป้าหมาย 21 บาท/หุ้น จากแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จะทำให้มีโอกาสซื้อหนี้ NPL เข้ามาบริหารได้มากขึ้น จากการที่ NPL ของสถาบันการเงินมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และการที่เริ่มบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ในปีนี้ ทำให้สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองฯที่เข้มงวด ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างบริหารจัดการคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้ขายหนี้ NPL ออกมาค่อนข้างมากในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสของ JMT ในการขยายพอร์ตบริหารหนี้เพิ่มขึ้น ช่วยหนุนผลการดำเนินงาน
ขณะที่การจัดเก็บหนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว อาจจะส่งผลกระทบบ้าง แต่มองว่า JMT มีแนวทางในการบริหารจัดการเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และคาดว่าจะสามารถเก็บหนี้ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจประกันยังคงเป็นแรงกดดันภาพรวมผลการดำเนินงานอยู่ ตามแผนงานของ JMT จะลดอัตราการเคลมให้ลดลงเพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายในการเคลมลดลง และไม่เร่งการขายประกันมาก เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจประกันจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ในครึ่งปีหลัง ช่วยหนุนผลการดำเนินงานในปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 63)
Tags: Consensus, JMT, ทรีนีตี้, ธุรกิจประกัน, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, เมย์แบงก์ กิมเอ็ง, เอกชัย ธาราพรทิพย์, เอเชีย พลัส