นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงว่า ตลท.ได้ตัดสินใจปรับหลักเกณฑ์การขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์สูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน (ซีลลิ่ง-ฟลอร์) ในตลาดหลักทรัพย์ (SET) สำหรับหุ้น / หน่วยลงทุน / ใบสำคัญแสดงสิทธิจะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์)/ DW / ETF / TSR / DR
จากเดิม บวก/ลบ 30% เป็น บวก/ลบ 15% ส่วน Foreign share จากเดิมบวก/ลบ 60% เป็น บวก/ลบ 30% ขณะที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้า จากเดิม บวก/ลบ 30% เป็น บวก/ลบ 15%
พร้อมกันนั้น จะปรับเกณฑ์มาตรการหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์)
ระดับที่ 1 จากลดลง 10% จะหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที เป็น 8% หยุดพักการซื้อขาย 30 นาที
ระดับที่ 2 จากลดลง 20% จะหยุดพักการซื้อขาย 60 นาที เป็น 15% หยุดพักการซื้อขาย 30 นาที
และเพิ่มระดับที่ 3 ลดลง 20% จะหยุดพักการซื้อขาย 60 นาที
ทั้งนี้ การปรับเกณฑ์ทั้งสองมาตรการจะมีผลชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.จนถึงไม่เกิน 30 มิ.ย.63
นายภากร กล่าวว่า วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตัวที่ 1,035.17 จุด หรือลดลง 1% ส่วนตลาดอื่นๆในภูมิภาคปรับตัวลดลง มีทั้งปรับตัวลดลงมาก และปรับตัวลดลงน้อย โดยมีบางตลาดหุ้นเท่านั้นที่ปรับตัวขึ้น จากความผันผวนที่มีค่อนข้างมากและต่อเนื่องของตลาดหุ้นของสหรัฐและตลาดหุ้นในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในช่วงของตลาดหุ้นไทยที่ปิดทำการ
ที่ผ่านมาถึงแม้ว่า ตลท.จะมีการปรับเกณฑ์การขายชอร์ตเพื่อใช้เป็นการชั่วคราวแล้ว ยังพบว่าความผันผวนยังมีค่อนข้างมากอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งต่อไปที่จะทำคือการปรับเกณฑ์การซื้อขายของราคาต่ำสุดและราคาสูงสุด และเกณฑ์มาตรการหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว โดยจะมีผลการใช้เกณฑ์ใหม่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 63 และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 63 โดยการปรับเกณฑ์ใหม่ครั้งนี้เชื่อว่าจะช่วยให้การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยช้าลง โดยจะไม่ปิดการซื้อขายของตลาดหุ้น
นายภากร กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ในรูปแบบนี้จะช่วยให้นักลงทุนมีเวลาคิดและทบทวน และรับข่าวสารใหม่ๆเข้ามา ซึ่งในวันถัดไปข่าวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันปัจจัยหลักยังมาจากต่างประเทศไม่ใช่ปัจจัยที่เกิดขึ้นในประเทศ การดำเนินการของ ตลท.จึงจะเป็นการดูแลเพื่อรอให้มีข่าวดีเกิดขึ้น เพราะปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน
“ตอนนี้สิ่งที่เราต้องทำคือการทำอย่างไรเพื่อที่จะให้ดัชนีปรับตัวลดลงช้าที่สุดอันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายาม แต่จะเห็นได้ว่าเกณฑ์ต่างๆที่เราออกไม่ได้เป็นการปิดตลาด ไม่ได้ปิดการซื้อขาย แต่เป็นการพยายามให้การขายเนี่ยทำให้ได้ช้าลงที่สุด วัตถุประสงค์ของเราชัดเจนคือเราต้องการให้เปิดตลาด เพราะหน้าที่ของตลาดคือทำให้ตลาดมีสภาพคล่องมากที่สุด สิ่งที่ต้องทำคือการทำให้ตลาดเคลื่อนไหวน้อยลง และเคลื่อนไหวช้าลง ตอนนี้เราทำให้ตลาดติดขัดน้อยที่สุด ตอนนี้สิ่งที่เราพยายามทำก็น่าจะประสบความสำเร็จพอสมควร และเราก็เชื่อว่าจะเป็นผลดีเพราะหากดูตลาดสหรัฐที่คืนวานนี้ลงถึง 13% แต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีช่วงที่ปรับตัวขึ้นได้ด้วย ซึ่งมองว่าสิ่งที่พยายามทำก็มีประสิทธิภาพพอสมควร”
นายภากร กล่าว
นายภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า วานนี้ที่ภาครัฐบาลได้มีการประกาศเกี่ยวกับความช่วยเหลือเรื่องการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ตลท.ไม่สามารถให้บริษัทจดทะเบียนเลือนการประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่จะส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นหลีกเลี่ยงการประชุมด้วยตัวเอง โดยแนะนำให้มอบสิทธิแก่ให้ตัวแทนเข้าประชุมแทน เพื่อที่จะพิจารณาอนุมัติงบการเงิน การจ่ายเงินปันผล และเรื่องอื่นๆด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 63)
Tags: Circuit Breaker, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ตลาดหุ้น, ภากร ปีตธวัชชัย, หุ้นไทย, เซอร์กิต เบรกเกอร์