น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า จากการที่ประชาชนตื่นตระหนกต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีความกังวลว่าจะมีการปิดเมือง รวมทั้งเริ่มปรับพฤติกรรมลดการออกนอกบ้าน ส่งผลให้มีการสต็อกอาหารและสินค้าจำเป็นต่างๆ เรียกว่าเกิด “แพนิคชอปปิ้ง” (Panic Shopping) ซึ่งในประเทศอื่นก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้นั้น
สนค. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เก็บราคาที่ทำดัชนีเงินเฟ้อออกสำรวจร้านค้าทั่วประเทศเป็นรอบพิเศษเพิ่มเติม พบว่า สินค้าหลายรายการมีการขาดช่วงบ้าง เนื่องจากความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมากพร้อมๆ กัน ทำให้พนักงานไม่สามารถจัดเรียงสินค้าได้ทัน ในขณะที่สต็อกสินค้ายังคงมีอยู่อย่างเพียงพอ และราคายังอยู่ในระดับปกติ
โดยสินค้าที่ประชาชนมีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติแยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาหารสดและเครื่องปรุง มีการปรับพฤติกรรมจากเดิมซื้อพอใช้ไม่กี่มื้อ เป็นซื้อคราวละมากๆ เพื่อลดการออกนอกบ้าน ทำให้ร้านค้าปรับตัวไม่ทัน 2.อาหารสำเร็จรูป มีการสำรองสินค้าเพื่อไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน (Food Security) ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อประชาชนเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหากประชาชนได้สำรองสินค้าเหล่านี้ในระดับที่พอใจแล้วก็คงกลับเข้าสู่พฤติกรรมปกติ 3.ของใช้จำเป็น เช่นเดียวกับอาหารสำเร็จรูปที่ประชาชนต้องการสำรองไว้เพื่อความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม สินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ดังนั้น เมื่อมีการปรับระบบการผลิตและการบริหารจัดการให้เหมาะสม ก็จะเพียงพอต่อความต้องการในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับเจลและแอลกอฮอล์ที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้น สนค.เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่ไทยผลิตได้เอง อีกทั้งภาครัฐก็ได้ผ่อนปรนระเบียบต่างๆ ให้สามารถนำแอลกอฮอล์ส่วนเกินที่ใช้ในภาคพลังงานมาใช้ในการผลิตสินค้าเหล่านี้ได้มากขึ้น เชื่อว่าจะมีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอย่างแน่นอน
นอกจากการสำรวจในภาคสนามแล้ว สนค. ได้สอบถามข้อมูลโดยตรงกับผู้ผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำเร็จรูปและของใช้จำเป็น ได้รับแจ้งว่า ความสามารถในการผลิตสินค้าเหล่านี้ยังเป็นปกติ และมีวัตถุดิบอย่างเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคในประเทศ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ของสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากำลังการผลิตที่สามารถทำได้ (เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 50-68) ในขณะที่สินค้าหลายรายการเริ่มผลิตเต็มกำลัง 100% เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว สำหรับข้อมูลด้านราคายังอยู่ระหว่างการสำรวจและประมวลผล ซึ่งจะรายงานให้ประชาชนทราบต่อไป
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับ ขอยืนยันว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกและกังวลเรื่องอาหารและของใช้จำเป็นขาดแคลน โดยในช่วงนี้อาจไม่มีวางขายบ้างหรือหมดเร็ว แต่ก็จะเป็นเพียงในระยะสั้น ในขณะที่สินค้ากลุ่มทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค กลุ่มผู้ผลิตกำลังเร่งให้ผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการได้ในไม่ช้า
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ของสินค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม ก็จะรีบดำเนินการต่อไป เพื่อมิให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 63)
Tags: Panic Shopping, กักตุนสินค้า, พิมพ์ชนก วอนขอพร, แพนิคชอปปิ้ง