ตลาดหุ้นนิวยอร์กทรุดตัวลงอย่างหนักในวันนี้ ส่งผลให้มีการประกาศมาตรการ circuit breaker เพื่อพักการซื้อขายชั่วคราว ขณะที่นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการครั้งใหญ่ในการประชุมฉุกเฉินวานนี้
ทั้งนี้ หลังจากเปิดตลาดได้ไม่นาน ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 20,935.16 จุด ลบ 2,250.46 จุด หรือ 9.71% ส่วนดัชนี S&P 500 ทรุดตัวลงกว่า 8% ส่งผลให้มีการใช้ระบบ circuit breaker พักการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที
เปิดซื้อขายหลังติด Circuit Breaker ดัชนียังลงต่อ
ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงทรุดตัวลงอย่างหนัก ขณะเปิดทำการซื้อขายอีกครั้ง หลังมีการใช้ระบบ circuit breaker เพื่อพักการซื้อขายก่อนหน้านี้
ณ เวลา 20.50 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 20,439.42 จุด ลบ 2,746.20 จุด หรือ 11.76% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ทรุดตัวลง 11%
การที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทใช้มาตรการ circuit breaker ในคืนนี้ ถือเป็นการใช้ครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากมีการใช้ 2 ครั้งในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อพักการซื้อขายชั่วคราว ขณะที่นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศระงับการเดินทางจากประเทศในยุโรปเข้าสู่สหรัฐ
ทั้งนี้ เฟดสร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.00% จากระดับ 1.00-1.25% สู่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวานนี้ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ เฟดยังได้ประกาศซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์
การใช้มาตรการ QE ของเฟดเมื่อวานนี้ ถือเป็นการทำ QE เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่สหรัฐเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และภาวะถดถอยในปี 2550-2552 โดยเฟดได้ถือครองสินทรัพย์จำนวนมากในช่วงที่ดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE เป็นจำนวน 3 รอบก่อนหน้านี้เพื่อกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงานในช่วงเวลาดังกล่าว
การซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ครั้งล่าสุดของเฟด ส่งผลให้เฟดถือครองสินทรัพย์ในงบดุลสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับธนาคารพาณิชย์ลง 1.25% สู่ระดับ 0.25% และขยายอายุเงินกู้เป็นเวลา 90 วัน และเฟดยังได้ปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารจำนวนหลายพันแห่งสู่ระดับ 0%
นอกจากนี้ เฟดได้ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกลางระดับโลก เช่น ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิส ในการเพิ่มสภาพคล่องของดอลลาร์ทั่วโลกผ่านทางข้อตกลงสว็อประหว่างธนาคารกลางดังกล่าว
การดำเนินการของเฟดในครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการครั้งใหญ่ที่สุดภายในวันเดียวที่เฟดเคยดำเนินการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 63)
Tags: Circuit Breaker, ดาวโจนส์, ดาวโจนส์ฟิวเจอร์, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก