นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลเอกชน ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุข โดย กรม สบส.จึงจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับขึ้น โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้แก่
1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ ห้ามปล่อยปละละเลย ปฏิเสธการรักษา และหากมีความจำเป็นต้องส่งต่อหรือผู้ป่วยมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่นจะต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสม ห้ามมิให้ผู้ป่วยเดินทางไปรับการรักษาต่อด้วยตนเอง และ
2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น
ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องจัดให้มีหน่วยคัดกรองผู้รับบริการ ซึ่งหากคัดกรองแล้วพบอาการเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จะต้องจัดให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และดำเนินการใดๆ เพื่อควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตราย พร้อมแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
หากเป็นสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (โรงพยาบาล) จะต้องจัดให้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยและส่งไปยังห้องปฏิบัติการตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด แต่หากเป็นสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก)จะต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นที่มีศักยภาพโดยทันที
ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลใดฝ่าฝืน ปล่อยปละละเลย ปฏิเสธการรักษา หรือปล่อยให้ผู้ป่วย/ผู้ที่มีอาการเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เดินทางไปรักษาต่อ ณ สถานพยาบาลอื่นด้วยตนเอง จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
กรม สบส.จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้สถานพยาบาลได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับมือกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 63)
Tags: COVID-19, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, กระทรวงสาธารณสุข, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, โควิด-19