ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ.63 อยู่ที่ 64.8 จากเดือน ม.ค. 63 ที่อยู่ในระดับ 67.3 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 21 ปี สาเหตุมาจากความกังวลการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และปัญหาภัยแล้ง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.พ.อยู่ที่ 52.5 ลดลงจากเดือน ม.ค.63 ที่อยู่ในระดับ 54.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 61.4 จาก 63.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 80.4 จาก 83.0
ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ลงเหลือ 1.5-2.5%
ขณะเดียวกันมีการเปิดเผย GDP ในไตรมาส 4/62 ที่พบว่าขยายต่ำสุดในรอบ 5 ปี ความกังวลสถานการณ์ภัยแล้ง ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อย ความกังวลต่อสถานการณ์ PM2.5 ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นช้าและยังกระจุกตัว
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ย 0.25%, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3.35% ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง
พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้ลดเหลือ 1.1% จากเดิม 2.8% ส่งออกพลิกเป็นติดลบ -1%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มี.ค. 63)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ภัยแล้ง, สภาพัฒน์, หอการค้าไทย