TISCO หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้โตแค่ 0.8% ต่ำสุดรอบ 9 ปี

เสี่ยงติดลบหากโควิด-19 และภัยแล้งรุนแรง

นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า TISCO ESU ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 ลงมาอยู่ที่เติบโตเพียง 0.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตของ GDP ที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 52

โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากรายได้ของภาคการท่องเที่ยวที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนปิดเมือง (Supply Disruption) รวมทั้งอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่อ่อนแอลง

นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยยะ TISCO ESU คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 0.25% ไม่เกินช่วงไตรมาส 2/63 เร็วที่สุดคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.63 หลังจากได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว 0.25% ในการประชุมวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับ 26,000 ราย ซึ่งในช่วง 1-8 มี.ค.63 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเฉลี่ย 2,400 คนต่อวัน เทียบกับระดับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 200 คนต่อวันในเดือน ก.พ.63

ล่าสุดรัฐบาลอิตาลีสั่งปิดเมืองทั้งประเทศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านและห้ามรวมตัวกันในที่สาธารณะ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในจีนสูงเกินกว่าระดับ 8 หมื่นราย แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในจีนกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากระดับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 2,300 คนต่อวันในเดือน ก.พ. เหลือการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 100 คนต่อวัน ในวันที่ 1-8 มี.ค.

TISCO ESU จึงมองว่าพัฒนาการของสถานการณ์ โควิด-19 ในปัจจุบันรุนแรงกว่าที่เราประเมินไว้เดิม ทั้งจากการแพร่ระบาดนอกประเทศจีน และตัวเลขเบื้องต้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน 5 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต ในเดือน ก.พ.-มี.ค.หดตัวลงแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยในเดือน ก.พ.หดตัว 46% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในระหว่างวันที่ 1-6 มี.ค.63 หดตัวถึง 58%

ดังนั้น จึงได้ปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเดิมคาดว่าจะลดลงเพียง 2.2 ล้านรายหรือลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นปรับลดลง 7.3 ล้านรายหรือลดลง 18% ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.5 ล้านคนเท่านั้น

โดย TISCO ESU มองว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวทั้งต่างชาติเที่ยวไทยและไทยเที่ยวไทยที่แย่ลง จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้มากที่สุด เนื่องจากเป็นแหล่งพื้นที่หลักของนักท่องเที่ยว โดยกว่า 80% ของเม็ดเงินการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเกือบ 60% ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวใน 2 ภูมิภาคดังกล่าว

อย่างไรก็ดี TISCO ESU มองว่ามีโอกาสที่ GDP ทั้งปีอาจจะติดลบได้ในปีนี้ จากความเสี่ยงสำคัญหลายประการ ได้แก่

1) ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีอยู่สูง อาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่เราคาดไว้ในกรณีฐาน

2) ความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจแย่กว่าคาด ซึ่งก่อนหน้านี้ประเมินว่าภัยแล้งจะลากยาวเพียง 5 เดือนคือระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค.63 ซึ่งจะกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.2%

อย่างไรก็ดี หากผลผลิตเสียหายกว่าที่คาดหรือสถานการณ์ลากยาวกว่าที่ประเมินไว้ จะกระทบต่อปริมาณผลผลิตและรายได้เกษตรกรให้แย่ลงกว่าที่คาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภัยแล้งรุนแรงและลากยาวไปจนถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงสิ้นปี โดยเฉพาะข้าวนาปีที่ผลผลิตกว่า 90% ออกสู่ตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว

3) ความไม่สงบของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และ

4) ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมาราคาน้ำมัน WTI ซื้อขายต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังซาอุดิอาระเบียวางแผนปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายน และปรับลดราคาขาย OSP (Offiical Selling Price) สำหรับน้ำมันดิบทุกเกรดที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าทุกประเทศ หลังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับพันธมิตร OPEC และรัสเซียได้

“หากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน แม้ว่าจะส่งผลบวกในด้านต้นทุนพลังงานที่ต่ำลง ลดค่าครองชีพของครัวเรือน ลดต้นทุนขนส่งของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงลง รวมถึงช่วยลดแรงกดดันต่อการขาดดุลการค้าในหมวดพลังงาน เนื่องจากไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ แต่จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าที่พึ่งพิงรายได้จากการขายน้ำมัน เช่น รัสเซียและตะวันออกลาง ให้แย่ลง ดังเช่นในช่วงปี 57-59 ที่ราคาน้ำมันร่วงลงแรง นักท่องเที่ยวจากรัสเซียปรับตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยขยายตัวติดลบเป็นระยะเวลายาวนานเกือบสองปี อีกทั้ง ราคาน้ำมันที่ลดลง ยังส่งผลกดดันต่อรายได้จากการส่งออกผ่านราคาสินค้าส่งออก รวมถึงราคาสินค้าเกษตรให้ปรับตัวลดลงอีกด้วย”

นายธรรมรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงไปมาก ส่งผลให้ CDS Spread ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (เสมือนเป็นต้นทุนของการซื้อประกันความเสี่ยงจากโอกาสผิดนัดชำระของลูกหนี้ ยิ่งตัวเลขนี้สูง ยิ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระ) ของไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าระดับ 0.50% และสูงขึ้นราวเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี แม้ยังต่ำกว่าระดับในช่วงวิกฤตซับไพร์ม ปี 2551-2552, น้ำท่วม ปี 54 และวิกฤตราคาน้ำมันที่ต่ำ ปี 57-59

แต่ก็สะท้อนว่าตลาดกำลังกังวลมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจและฐานะการเงินของตราสารที่ตนเองถือครองอยู่ ไม่ว่าจะเกิดจากความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง หรือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่ต้องจับตา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top