นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สาเหตุหลักราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงรุนแรงกว่า 40% นับตั้งแต่วันศุกร์ (6 มี.ค.) ที่ผ่านมา เกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมของกลุ่ม OPEC+ จบลงด้วยความล้มเหลว
เมื่อประเทศรัสเซียเป็นพันธมิตรไม่ยอมร่วมมือลดกำลังผลิตเพิ่มอีก 1.0-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นตัวเลขที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้า เป็นเหตุให้ประเทศซาอุดิอาระเบียประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมผลิตอยู่ที่ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และลดราคาน้ำมันทุกภูมิภาค ยุโรป, สหรัฐฯ,เอเชีย เป็นต้น เป็นการสะท้อนว่าซาอุฯได้เริ่มต้นประกาศสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซีย
ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นขาลง จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เชื่อมโยงมายังหลายภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก กระทบความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามข้อมูลคาดการณ์พบว่าในไตรมาส 1/63 ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกลดลงถึง 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตกต่างกับภาวะปกติที่จะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แต่วันนี้เมื่อเกิดปัญหาสงครามราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นปัจจัยเข้ามาซ้ำเติมให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวเป็นขาลงไปหลุด 30เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลหรืออาจต่ำกว่านั้นเล็กน้อย ในกรณีเลวร้ายมากที่สุดคือยังไม่สามารถหาข้อยุติกันได้และสถานการณ์ยืดเยื้อมีโอกาสเป็นไปได้ว่าในช่วงหลังจากนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความเสี่ยงลดลงไปแตะ 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ตัวแปรระยะสั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าทั้ง 2 ประเทศจะมองเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลร้ายแรงกับตัวเองหรือไม่ เพราะเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญช่วยให้เกิดการเจรจาโดยเร็วที่สุด
“ราคาน้ำมันโลกร่วงหนักรอบนี้ นับว่าลงลึกมากสุดรอบ 4-5 ปี เพราะที่ผ่านมาเคยเจอเหตุการณ์ความขัดแย้งกรณีกลุ่มโอเปกประกาศกดดันกลุ่มเชลออยล์ ลดลงราคาน้ำมันจาก 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลลงมาเหลือ 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่สถานการณ์วันนี้พบว่าราคาน้ำมันลดลงเจอ 2 เด้งคือความต้องการลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 และความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างซาอุฯและรัสเซีย เป็นประเทศมหาอำนาจด้านน้ำมันของโลก”
นายมนูญ กล่าว
สำหรับผลกระทบในประเทศไทย กรณีราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเป็นผลกระทบเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจไทย หลังจากเกิดภาวะชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 เพราะไทยเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันและนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศกว่า 80% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด ซึ่งช่วยลดภาระให้กับรัฐบาลที่กำลังมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าประชาชนจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากต้นทุนด้านพลังงานในประเทศลดลง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการด้านพลังงานได้รับผลกระทบด้านลบในระยะสั้น บางรายต้องเผชิญกับผลการขาดทุนสต็อกน้ำมันเป็นจำนวนมาก มีโอกาสผลประกอบการอาจถึงขั้นขาดทุน โดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่น เชื่อว่าน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมาค่าการกลั่นต่ำสุดในรอบหลาย 10 ปี
และช่วงนี้เจอกับปัจจัยลบรัสเซียและซาอุฯ ยิ่งเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมให้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นมากขึ้นกว่าเดิม แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการในไทยน่าจะปรับตัวรองรับกับสถานการณ์ของราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไปได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 63)
Tags: ซาอุดีอาระเบีย, น้ำมันดิบ, รัสเซีย, ราคาน้ำมัน, สงครามราคา, โอเปก