นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบริหารสินทรัพย์ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้รวมในปี 63 มีโอกาสปรับตัวลงราว 15% ตามทิศทางของอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPar) ของธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ทำให้บริษัทประเมินว่า RevPar ในปี 63 จะปรับตัวลดลงราว 15% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นราคาห้องพักได้ และมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาห้องพักเพื่อกระตุ้น
ขณะที่อัตราการเข้าพัก (OCC) ของธุรกิจโรงแรมในปี 63 บริษัทคาดว่าจะลดลง 10% จากปีก่อน โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้อัตราการเข้าพักของบริษัทปรับตัวลดลงมาเหลือ 60% จากระดับปกติในช่วงเดียวกันที่ 80-90% และแนวโน้มของสถานการณ์ยังไม่สิ้นสุดในปัจจุบัน ทำให้กระทบต่ออัตราเข้าพักต่อเนื่องในเดือน มี.ค. 63 และไตรมาส 2/63
สำหรับสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้าพักโรงแรมยังเป็นคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีการชะลอการท่องเที่ยวไปบ้าง และนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 คือ ยุโรป รองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่ปัจจุบันได้ชะลอการท่องเที่ยวไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมยังได้รับผลกระทบในเรื่องของการใช้สถานที่จัดงานและการจัดประชุมต่างๆที่มีงานเป็นจำนวนมากถูกเลื่อนออกไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโรงแรม Centara Grand at Central World โดยบริษัทได้มีมาตรการเยียวยาลูกค้าด้วยการแนะนำให้เลื่อนจัดงานออกไปก่อนแทนการยกเลิก รวมไปถึงลูกค้าที่เข้าพักโรงแรมด้วย
ขณะเดียวกันในช่วงนี้บริษัทจะมีการพิจารณาเร่งรีโนเวทโรงแรม Centara Grand at Central World ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น ในช่วงที่ลูกค้าเข้าพักไม่มาก และทำให้สามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงที่ภาวะกลับมาปกติ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถปรับขึ้นค่าห้องพักได้ 30%
ส่วนแผนการเปิดโรงแรมใหม่ในปี 63 จะมีทั้งหมด 8 โรงแรม แบ่งเป็น 7 โรงแรมใหม่ ส่วนอีก 1 โรงแรมได้รีโนเวทและเปลี่ยนชื่อแบรนด์ โดยมีโรงแรมที่บริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรในดูไบ 1 แห่งที่จะเปิดให้บริการเดือนต.ค. 63 และโรงแรมในไทยที่บริษัทลงทุนเอง คือ COSI พัทยา ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในไตรมาส 2/63 และ Centara Reserve สมุย จะเปิดให้บริการเดือน ธ.ค. 63 ส่วนอีก 5 โรงแรมเป็นโรงแรมใหม่ที่บริษัทเข้าไปรับจ้างบริหาร
ด้านธุรกิจอาหารคาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายทุกสาขา (TSS) ในปี 63 จะอยู่ในระดับ 6-8% ซึ่งมองว่าธุรกิจอาหารในปีนี้จะช่วยหนุนรายได้รวมของบริษัท จากการที่ประชาชนยังคงมีการบริโภคอาหารตามปกติ แต่อาจจะเปลี่ยนสถานที่รับประทานจากที่ร้านมาเป็นที่บ้านมากขึ้น ดังนั้นบริษัทปรับกลยุทธฺหันมารุกตลาด Delivery มากขึ้น ตามกระแสความนิยมของประชาชน โดยร่วมมือกับ Grab ในการให้บริการ ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเห็นการเติบโตของยอดขายจาก Delivery เพิ่มขึ้น 3-4%
ขณะที่การขยายสาขายังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอีก 10-11% ในปีนี้ จากปีก่อน 1,064 สาขาจาก 15 แบรนด์ พร้อมกับวางแผนซื้อกิจการแบรนด์ร้านอาหารเพิ่มอีก 1-2 ดีล ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหารขนาดเล็ก
ส่วนการร่วมทุนกับ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) นายกันย์ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในเวียดนาม และหลังจากนี้เตรียมลงทุนเพื่อเปิดสาขา โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนมิ.ย. นี้
บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วงปี 63-64 ราว 1.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในธุรกิจโรงแรม 1.2 หมื่นล้านบาท ธุรกิจอาหาร 2.4 พันล้านบาท ขณะที่เงินลงทุนสำหรับการซื้อกิจการและโอกาสใหม่ๆอีก 2.3 พันล้านบาท
ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนอื่นๆ โดยเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสด เงินกู้จากสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ ซึ่งในปีนี้บริษัทจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 400 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 2/63 โดยคาดว่าบริษัทจะออกหุ้นกู้วงเงินรวม 500-1,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหุ้นกู้ที่ครบกำหนด และอีกส่วนจะนำไปคืนเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มีต้นทุนสูง เพื่อทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 63)
Tags: CENTEL, COVID-19, ท่องเที่ยว, หุ้นไทย, โควิด-19