พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมวาระเร่งด่วนเรื่องมาตรการรองรับกลุ่มผู้ประสงค์เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ โดยระบุว่าแรงงานไทยจากเมืองแทกู และเมืองคยองซัน หากเดินกลับมาต้องถูกแยกกักตัวในพื้นที่ควบคุม 14 วันแม้ไม่พบว่ามีไข้ เนื่องจากเป็นพื้นที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรง ส่วนผู้ที่มาจากเมืองอื่นให้กลับไปกักตัวเอง ณ ภูมิลำเนาได้
“2 เมืองนี้เข้ามาแล้ว เขาต้องถูกควบคุม ไม่มีการควบคุมที่บ้าน จะมีพื้นที่ควบคุม มีแพทย์เข้าดูแล”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินทางกลับมาของแรงงานไทยคงไม่ใช่การกลับมารอบเดียว 5,000 คน แต่เป็นการทยอยกลับมา และผ่านการตรวจตามขั้นตอนอย่างเข้มงวด ซึ่งมีจุดคัดกรองทั้งสนามบิน ด่านตรวจชายแดน และท่าเรือ
ส่วนสถานที่ควบคุมโรคของแรงงานไทยที่จะกลับจากเกาหลีใต้จะใช้พื้นที่ทหารหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า กำลังเตรียมการอยู่ แต่ท้ายที่สุดคิดไม่ออกก็บอกทหาร
โดยในวันนี้ได้มีการตั้งศูนย์บริหารจัดการโรคโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะดูแลเรื่องนโยบาย การสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมยกระดับหากมีสถานการณ์มากกว่านี้ จากที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ อยู่ในขณะนี้ ย้ำว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการดูแลมากพอสมควร จะเห็นได้จากสถิติผู้ติดเชื้ออยู่อันดับที่ 17 จาก 75 ประเทศ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยว่า จะมีการตรวจสอบไปยังร้านค้า เพื่อย้อนกลับไปดูว่าสั่งสินค้าจากแหล่งใด เพื่อจะตรวจสอบสาเหตุว่าทำไมการนำหน้ากากอนามัยมาจำหน่ายไม่เพียงพอ หรือบางแห่งไม่มีหน้ากากอนามัยจำหน่ายเลย
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปริมาณหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ต่อวันกว่า 1 ล้านชิ้น แบ่งให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปแจกจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ อีกส่วนนำไปจำหน่ายในร้านค้าขององค์การเภสัช รวมแล้วประมาณ 3 แสนชิ้นต่อวัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าที่เหลือประมาณ 7 แสนชิ้นต่อวันหายไปอย่างไร ต้องตรวจสอบว่าส่งไปจำหน่ายที่ใดบ้าง มีการกักตุนหรือไม่ หรือลักลอบนำส่งไปขายยังต่างประเทศ
ทั้งนี้ จะพยายามควบคุมราคาหน้ากากอนามัยให้อยู่ชิ้นละ 2.50 บาท แต่ต้องยอมรับว่าวัสดุที่ใช้ผลิต ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมาจาก จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ที่ขณะนี้มีการลดนำเข้าเนื่องจากทุกประเทศก็มีความต้องการใช้ป้องกันโรค จึงได้สั่งการให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเตรียมขยายโรงงาน หาวัตถุต้นทุนว่าจะผลิตเองได้หรือไม่
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า จะต้องมีการปรับงบประมาณบางส่วนมาดูแลผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ ขอให้เข้าใจรัฐบาล ที่ผ่านมารับฟังความเห็นมาตลอด สิ่งสำคัญข้อมูลข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน อย่าตัดตอนคำพูดของตนเองและนำไปลงโซเชียล พร้อมขอเตือนผู้กระทำความผิดผ่านโซเชียลลงข้อมูลบิดเบือนไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง จะมีโทษรุนแรง และไม่อยากให้ใครมีคดีทั้งสิ้น อยากให้บ้านเมืองสงบสุข
ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อจัดการให้แรงงานไทยจากเกาหลีทยอยกันเดินทางกลับ ไม่ให้เดินทางมาพร้อมกัน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการคัดกรองอย่างเข้มข้น หากพบกว่ามีไข้ก็จะแยกตัวนำส่งโรงพยาบาลทันที และหากเป็นผู้ที่เดินทางมาจากสองเมืองที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักก็จะแยกออกไปกักตัวในสถานที่ที่ทางการจัดไว้เป็นเวลา 14 วัน ส่วนผู้ที่มาจากเมืองอื่น ๆ ก็จะให้เดินทางกลับไปกักตัวเอง ณ ภูมิลำเนาเป็นเวลา 14 วันเช่นกัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้บริหารจัดการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ทั้งนี้ แรงงานจากเกาหลีใต้ที่เดินทางกลับมาแล้วก่อนหน้านี้ ตรวจสอบพบว่ามีไข้ 2 ราย ซึ่งอยู่ในการดูแลโรงพยาบาลเรียบร้อย ส่วนที่เหลือ 17 รายยังตรวจไม่พบเชื้อ และถูกส่งตัวกลับไปกักตัวเองตามพื้นที่ภูมิลำเนาเป็นเวลา 14 วัน โดยมีแพทย์ลงไปติดตามอาการทุกวัน
“สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ไม่ว่าใครก็ตามกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าเป็นช่องทางบก น้ำ อากาศ เรามีการคัดกรองอย่างเข้มข้น โดยไม่เลือกว่าเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ตราบใดก็ตามที่มีไข้จะถูกแยก นำไปโรงพยาบาลจะถูกแยกกัก”
นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ในส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า เป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันโรคในสังคมโดยรวม เรื่องค่าใช้จ่ายจึงเป็นประเด็นรอง แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดว่าค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับเจ้าของยานพาหนะและตัวบุคคล สิ่งสำคัญคือการดูแลคนไทย และผู้ที่กลับมาคือคนไทยเหมือนกัน
ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติตต่ออันตราย ที่กำหนดให้ 9 ประเทศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ยังเป็นไปตามเดิมหรือไม่นั้น นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ต้องติดตามการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หลังจากวานนี้ได้นำประกาศรายงานให้คณะรัฐนตรีรับทราบแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการด้านวิชาการจะพิจารณาตามความเหมาะสม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มี.ค. 63)
Tags: COVID-19, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เกาหลีใต้, แรงงานไทย, โควิด-19, ไวรัสโควิด-19, ไวรัสโคโรนา