กระทรวงสาธารณสุข แถลงพบผู้ป่วยชายยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก 1 ราย อายุ 21 ปี เป็นพนักงานขาย ทำงานใกล้ชิดชาวต่างชาติ วันที่ 2 มี.ค. เตรียมแจกหน้ากากอนามัยคนละ 3 ชิ้น
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้ได้รับรายงาน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่ง (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ยืนยันพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 1 ราย ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 21 ปี อาชีพพนักงานขาย สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ
เริ่มป่วยวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ขณะนี้รับไว้รักษาอยู่ที่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ด้วยอาการไข้ ไอ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ ขณะนี้ได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ทั้ง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนแล้ว
ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 14 ราย รักษาหายแล้ว 28 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 42 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มาจากการเฝ้าระวัง 28 ราย (เป็นคนจีน 16 ราย คนไทย 12 ราย) และเป็นผู้ป่วยที่มาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 14 ราย (เป็นคนจีน 9 ราย คนไทย 5 ราย)
ทำให้ขณะนี้ไทยมีรายงานผู้ป่วยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 2 รายที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว รอร่างกายฟื้นตัว
เตรียมแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชน
นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 2 มี.ค.63 กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มมอบหน้ากากอนามัยให้ประชาชนจำนวน 3 ชิ้น ต่อคน เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันโรค ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และการจัดหา
นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 มีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (1 มีนาคม 2563) เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่อาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ภายหลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้ จะออกมาตรการต่างๆ ภายใต้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3ของการแพร่ระบาดของโรคให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ส่วนข้อสงสัยข้อกังวลของประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงกลับมาแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร ขอความร่วมมือ ต้องสังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้านที่พักจนครบ 14 วัน นับจากวันที่กลับ หลีกเลี่ยงการไปที่สาธารณะที่มีคนอยู่หนาแน่นโดยไม่จำเป็น ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น งดใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ กินร้อนช้อนกลาง หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ชักโครก ลูกบิดประตู ด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เสื้อผ้า และหากภายใน 14 วัน มีไข้ร่วมกับไอ จาม ให้รีบมาพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
ในส่วนการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19 หากเป็นผู้ที่เข้าข่ายสงสัยฯ ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปรับการตรวจที่ รพ.ตามสิทธิ (ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่าตรวจ) หากยังไม่มีอาการใด ๆ หรืออาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ ไม่แนะนำให้ไปตรวจเอง (หากอยากตรวจต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง) ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่เข้าข่ายแต่เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่เสี่ยง แม้จะตรวจไม่พบเชื้อ ในครั้งแรกขอให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้าน/ที่พัก จนครบ 14 วัน
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทราบว่าจะมีการชุมนุม แสดงจุดยืนทางการเมือง เราไม่ปิดกั้นความต้องการของท่าน แต่ขอให้ท่านคำนึงถึงภาพรวมของสังคม เพราะ โควิด-19 เป็นโรคที่รักษาได้ แต่ติดง่าย การไปอยู่รวมกัน โอกาสติดโรคมันสูงกว่าอยู่แล้ว หากติดเชื้อ 1 คน ทางกระทรวงฯ ต้องตามไปคุมโรคกับคนใกล้ชิดอย่างน้อยที่สุดคือ 30 คน แล้วถ้าเกิดรับเชื้อพร้อมกันทีละมากๆ ย่อมจะเป็นงานหนักในการคุมโรคแน่นอน ขอให้คิดกันให้หนักๆ ก่อนจะร่วมกิจกรรมใดๆ
“ผมเข้าใจปัญญาชน แต่ตอนนี้มันมีการระบาดของโรค แต่ผมไม่ได้ปิดกั้น เท่ากับเราไม่ได้สั่งห้าม แต่ขอให้ทุกคนช่วยกันระมัดระวังการแพร่ระบาดของโรค เพราะถ้าติดกัน 1 คน ในที่ชุมนุม เท่ากับเราต้องตามไปคุมโรคกับทุกคนที่ร่วมชุมนุม และต้องตามไปถึงคนใกล้ชิดกับทุกคนที่ร่วมชุมนุม อยากขอร้องให้ลองคิดดูว่ามันจะมีวิธีแสดงออกด้วยวิธีอื่นไหม”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.พ. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, หน้ากากอนามัย, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19