ดาวโจนส์ปิดลบวันที่ 7 เป็นสัปดาห์ที่ร่วงหนักสุดนับแต่วิกฤตการเงินปี 51

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (28 ก.พ.) โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน และร่วงลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมาจากความวิตกที่เพิ่มขึ้นว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาจฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,409.36 จุด ร่วง 357.28 จุด หรือ -1.39% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,954.22 จุด ลดลง 24.54 จุด หรือ -0.82% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,567.37 จุด เพิ่มขึ้น 0.89 จุด หรือ +0.01%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ร่วง 12.4%, ดัชนี S&P500 ร่วง 11.5% และดัชนี Nasdaq ร่วง 10.5% โดยดัชนีดาวโจนส์ และดัชนี Nasdaq ดิ่งลงเป็นเปอร์เซนต์รุนแรงที่สุดในสัปดาห์นี้นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551

บรรดานักลงทุนได้เทขายหุ้นออกมาเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เป็นครั้งที่ 4 ในสัปดาห์นี้

นักลงทุนวิตกกับการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของโควิด-19 โดยในวันศุกร์ มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อรายแรกใน 6 ประเทศ ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่มระดับเตือนความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-19 สู่ระดับที่สูงมาก

นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวว่า “ขณะนี้ WHO ได้เพิ่มการประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาดทั่วโลก และความเสี่ยงจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สู่ระดับที่สูงมาก”

หุ้นกลุ่มการเงิน, กลุ่มสาธารณูปโภค, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ร่วงลงในวันนี้ โดยหุ้นลบนำตลาดได้แก่ หุ้นโบอิ้ง ร่วง 4.53% และหุ้นเจพีมอร์แกน เชส ร่วง 4.40%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 100 ในเดือนก.พ. หลังจากแตะระดับ 99.8 ในเดือนม.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนม.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลพุ่งขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนธ.ค.

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2561 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนธ.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.พ. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top