สธ.เผยผลตรวจผู้สัมผัสปู่-ย่า-หลาน 97 รายเป็นลบ ยังรออีก 4 ราย

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยว่า ล่าสุดวันนี้ไม่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม โดยยังคงยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 40 ราย

อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยหายดีและกลับบ้านได้แล้วอีก 3 ราย ประกอบด้วย ชาวจีน 2 ราย (ชาย 1 หญิง 1) ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยก่อนที่จีนจะประกาศปิดสนามบิน และอีก 1 ราย เป็นชายไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทำให้ขณะนี้มียอดผู้ป่วยที่รักษาหายดีและกลับบ้านได้แล้ว 27 ราย คงเหลือรักษาตัวอยู่ใน รพ.อีก 13 ราย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงความคืบหน้าของผลตรวจผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังจากการใกล้ชิดกับผู้ป่วยในเคสปู่-ย่า-หลานว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับเคสดังกล่าว ทั้งคนอื่นในครอบครัวที่ไม่ได้เดินทางไปญี่ปุ่น, กรุ๊ปทัวร์, นักเรียน และบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.บีแคร์ รวมทั้งหมด 101 คน ล่าสุดผลตรวจยืนยันอย่างเป็นทางการจากห้องปฏิบัติการ 97 คนเป็นลบ คือไม่พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนที่เหลืออีก 4 คน ยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจจากห้องแล็ป ส่วนผู้ป่วย 3 รายเคสปู่-ย่า-หลาน ขณะนี้ในภาพรวมอาการปลอดภัยดี

“แม้จะมีผู้ที่กลับจากต่างประเทศและติดเชื้อกลับมา 2 ราย (ปู่-ย่า) และติดคนในครอบครัว 1 ราย แต่คนอื่นๆ ไม่มีใครติดเชื้อ ถือว่าเป็นการติดเชื้อในวงจำกัด ไทยยังอยู่ในเฟส 2”

นพ.โสภณระบุ

ส่วนที่สังคมอาจจะเกิดความวิตกกังวลว่าจะมีการระบาดในพื้นที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับผู้ป่วยทั้ง 3 รายนี้หรือไม่นั้น นพ.โสภณ ยืนยันว่า โรคนี้ติดต่อโดยฝอยละอองขนาดใหญ่ในรัศมี 1 เมตร และต้องอยู่ใกล้ชิดมากกว่า 5 นาทีขึ้นไป ซึ่งคนในครอบครัวของผู้ป่วยทั้ง 5 คนก็ไม่ได้ติดเชื้อทุกคน ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน หรือละแวกเดียวกันก็จะไม่ติดเชื้ออย่างแน่นอน

นพ.โสภณ ยังกล่าวถึงกรณีผู้โดยสารคนไทย 8 คน ประกอบด้วยนักท่องเที่ยว 1 คน และลูกเรือ 7 คนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บนเรือไดมอนด์ ปรินเซสว่า ผู้ป่วยทั้ง 8 คนไม่ได้มีอาการรุนแรง ขณะนี้รักษาตัวอยู่ใน รพ.ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากหายป่วยแล้วจะต้องติดตามอาการอีก 14 วัน เพื่อให้พ้นระยะแพร่เชื้อจึงสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ส่วนผู้โดยสารคนไทยที่เหลือที่ไม่มีอาการป่วย ยังถูกกักเพื่อสังเกตอาการซึ่งรอให้ครบระยะ 14 วันเช่นกัน

“ความลำบากของเรือลำนี้ คือมีผู้โดยสารถึง 4 พันคน ป่วยไปแล้ว 700 คน ต้องตามสถานการณ์ต่อว่าจะหยุดแพร่ระบาดในเรือหรือยัง เพราะเมื่อวานยังมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีก 10 กว่าคน การนำคนไทยกลับบ้านจะต้องให้ปลอดภัยทั้งลูกเรือ เพื่อไม่ให้ป่วยระหว่างเดินทาง และคนไทยในประเทศเอง จะได้ไม่เป็นผู้สัมผัสแล้วต้องมาถูกแยกกักทีหลัง” ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไประบุ

กรณีผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ควรแจ้งประวัติการเดินทางทุกครั้ง เพราะการปกปิดข้อมูลประวัติความเสี่ยงประวัติการเดินทาง ไม่เป็นประโยชน์ อาจเป็นโทษ นำโรคมาติดคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน ขอให้อย่ากลัวที่จะบอกประวัติความเสี่ยง สาธารณสุขไทยมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลรักษา แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคหากเรามีความเสี่ยง และมีอาการสงสัยป่วย ให้หยุดที่ตัวเรา แยกตัวออกจากผู้อื่น ป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น งดใช้ขนส่งสาธารณะ ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง หากมีความจำเป็นต้องทำงาน สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยปรึกษากับหัวหน้างาน จดบันทึกอาการของตนเองและวัดไข้ทุกวัน

ขณะที่ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-26 ก.พ.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 2,064 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 76 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,988 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,352 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 712 ราย

นพ.ณรงค์ ยังเปิดเผยว่า ประเทศไทยยังได้ถูกจัดอันดับอยู่ในอันดับ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของเอเชีย สำหรับประเทศที่มีความพร้อมในการเตรียมตัวรับมือกับโรคระบาดดีที่สุดในโลก และมีระบบการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด จากการแถลงข่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้เปิดเผยรายงานจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ในระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา

“ไทยถูกจัดอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งเป็นประเทศที่มีการควบคุมป้องกันโรค เมื่อเช้าโดนัลด์ ทรัมป์ ยังชมว่าประเทศไทยมีระบบควบคุมป้องกันโรคที่ดีที่สุดอันดับ 6 ของโลก ตั้งแต่ควบคุม ป้องกัน คัดกรอง รักษา ส่งต่อ เราทำงานกันแบบมืออาชีพ โดยกระทรวงสาธารณสุขและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุ

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศโรคติดต่ออันตรายแล้วเย็นวานนี้ (26 ก.พ.) และเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในวันถัดไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top