ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ม.ค. 64) ที่ 29.80-30.15 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกและในไทย รายงานนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนธ.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ย.
สำหรับในปี 2563 เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 29.76-33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเริ่มทยอยอ่อนค่าลงตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนม.ค. 2563 ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากโควิด-19 รอบแรก ซึ่งมีการระบาดออกไปในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ในช่วงเวลานั้น นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิ ทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัญญาณถดถอยของเศรษฐกิจโลกกระตุ้นแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย
อย่างไรก็ดี เงินบาทสามารถลดช่วงอ่อนค่าและกลับมาปรับตัวในกรอบที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยได้รับแรงหนุนจากสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบไม่จำกัดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 รอบแรกที่เริ่มคลี่คลายลง และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของนายโจ ไบเดนก็เป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินในฝั่งเอเชีย รวมถึงเงินบาท นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องและหนุนให้ค่าเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงเดือนธ.ค. 2563 คือ การที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Monitoring List ในรายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ทางการไทยอาจต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังมากขึ้นในการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และแม้เงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าในช่วงปลายปี แต่สัญญาณที่เสี่ยงมากขึ้นของการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ก็จำกัดกรอบการแข็งค่าไว้บางส่วน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ธ.ค. 63)
Tags: KBANK, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, เงินบาท