นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย.63 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัว 2.5% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.5% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัว 8.7% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.2% ต่อปี
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 50.9 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี ประกอบด้วย โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคให้ปรับตัวดีขึ้น
รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ขยายตัว 13.6% ต่อปี ส่งผลให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ยังคงชะลอตัว
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 8.2% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว 6.2% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -3.2% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 10.8% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -1.5% ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลง -11.4% ต่อปี
เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -3.7% ต่อปี จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่
- สินค้าอาหาร เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ขยายตัว 23.6% และ 14.0% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกผักและผลไม้ สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวต่อเนื่อง
- สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เป็นต้น
- สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยาง ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ และคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบยังชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 15.4% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 23.7% และ 5.4% ต่อปี ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 87.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อ ยอดขาย และการผลิตที่ปรับดีขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช้อปดีมีคืน ทำให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศมากขึ้น
ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ และกลุ่มสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาทิ รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สำหรับภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวที่ 3.6% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง เป็นต้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.4% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 49.5% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน พ.ย.63 อยู่ในระดับสูงที่ 253.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 63)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย