นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อช่วยผ่อนคลายภาระด้านหนี้สินและค่าใช้จ่ายของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รวมถึงการช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงมีหนี้อันเป็นภาระหนักได้ลดความกังวล สามารถมีเงินกลับคืนเข้าสู่กระเป๋า เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ธ.ก.ส.
จึงได้ออกมาตรการ ดังนี้
1) โครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ปกติ และไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 15 เดือน ซึ่งต้องมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ย ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อชำระจะได้รับคืนดอกเบี้ยโดยการโอนคืนเข้าบัญชีเงินฝากของลูกค้าในวันถัดไปหลังจากวันที่ชำระหนี้
กรณีเป็นเกษตรกร และบุคคล จะได้รับเงินคืนในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกิน รายละ 5,000 บาท และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับเงินคืนในอัตรา 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินรายละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ
2) โครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระ หรือสถานะหนี้ปกติที่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ซึ่งต้องมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน และหลังจากตัดชำระหนี้แล้ว มีเงินคงเหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรในวันถัดไป
ในกรณีลูกค้าเกษตรกรและบุคคล จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564
ทั้งนี้ หลังการชำระหนี้ ธ.ก.ส.จะส่งข้อความ SMS ให้เกษตรกรลูกค้าได้รับทราบเมื่อมีการโอนเงินเข้าบัญชี เงินฝากและกรณีที่เกษตรกรลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect จะได้รับข้อความแจ้งเตือนผ่าน LINE Official BAAC Family เช่นกัน
นายกษาปณ์ ยังกล่าวถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีบัญชี 2563 (1 เม.ย.63 – 31มี.ค.64) ว่า ล่าสุดสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดปีบัญชีจะปล่อยได้ 7.35 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายปรับใหม่จากเดิมที่ 1.5 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกษตรกรไม่ต้องการกู้ใหม่ เพราะได้รับผลกระทบ ประกอบกับมีนโยบายเยียวยาจากรัฐบาลหลายมาตรการ
“สินเชื่อใหม่ในระดับ 7.35 หมื่นล้านบาท ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนปีบัญชี 2564 ยังไม่ได้สรุปตัวเลขการปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งรอหารือกับพื้นที่อีกครั้งในเดือน ม.ค.64 และเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณา” รองผู้จัดการธ.ก.ส.ระบุ
อย่างไรก็ดี ภายในเดือน มี.ค.64 เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพบกับลูกค้าประมาณ 5 แสนรายที่จะครบกำหนดอายุมาตรการพักหนี้ก้อนแรกในช่วง มิ.ย.64 เพื่อสำรวจความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากในปีนี้สำรวจรอบแรกไปแล้ว 87% ของจำนวนลูกค้า 4.2 ล้านราย พบว่า เป็นกลุ่มสีเขียว ชำระหนี้ได้ปกติ 23% กลุ่มสีเหลือง 61% เป็นกลุ่มที่ค้างชำระดอกเบี้ย 15 เดือน และกลุ่มสีแดง 16% เป็นกลุ่มที่ต้องตัดหนี้สูญ ทั้งนี้ ธนาคารจะพยายามรักษาระดับหนี้เสียไม่ให้เกิน 4%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 63)
Tags: กษาปณ์ เงินรวง, ธ.ก.ส., ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้, ลดหนี้