นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 64 นั้นยังเหมือนในปีที่ผ่านมา โดยเน้นเรื่องพลังงานเข้มแข็งและเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนขับเคลื่อนราว 1.3 แสนล้านบาท โดยเตรียมนำแผนงานเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ประกอบด้วย
- แผนงานด้านไฟฟ้านั้นขณะนี้ยังมีปริมาณสำรองเหลืออยู่ 40% ซึ่งจะมีการบริหารจัดการถึงปริมาณสำรองที่เหมาะสม, ส่งเสริมการค้าเสรีกิจการก๊าซและไฟฟ้า, กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อกระตุ้นการใช้ไฟฟ้าและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งการผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่
- การเตรียมความพร้อมเปิดประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23, การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (OCA) ,การส่งเสริมการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4 รูปแบบใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท, ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และแก๊สโซฮออล์ E20 เป็นเกรดมาตรฐาน, ขับเคลื่อนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศ 2,400 ล้านบาท
- ส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด ได้แก่ โรงไฟฟ้าชุมชนุม 150 เมกะวัตต์ หากประสบความสำเร็จก็จะขายโครงการเพิ่มเติม โดยจะพยายามให้สำเร็จในต้นปี 64, ส่งเสริมการตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียและลดก๊าซเรือนกระจก, ส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด, ส่งเสริมการลดใช้พลังงานในหน่วยงานของรัฐให้ได้ 30% และกระตุ้นการลงทุนในด้านนี้
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 63 นั้น ประกอบด้วย
- การเข้าไปดูแลและช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ให้กับประชาชนหลังมีการล็อกดาวน์ประเทศ ได้แก่ ค่าไฟฟ้าทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจจำนวน 30 ล้านราย คิดเป็นเงินราว 3.4 หมื่นล้านบาท, การตรึงราคาก๊าซหุงต้มด้วยงบ 3,500 ล้านบาท, ช่วยเหลือรถสาธารณาเป็นค่าส่วนต่างก๊าซเอ็นจีวีด้วยงบ 800 ล้านบาท, การแจกแอลกฮฮอล์จำนวน 2 ล้านลิตรให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ, ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 50 สตางค์/ลิตร หรือราวเดือนละ 1,200 ล้านบาท
- การหารายได้หลักเข้าประเทศจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมราว 1.3 แสนล้านบาท และเพิ่มการจ้างงาน 100 คน
- การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ด้วยการนำผลผลิตที่ได้มาผลิตน้ำมันดีเซล B10 ที่เป็นเกรดมาตรฐาน, การกำหนดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมนุม เพื่อเป็นแนวทางสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยผ่านการพิจารณาของ กพช.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกหนังสือเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอ, การขับเคลื่อนพลังงานชุมชน นำร่อง 6 พันครัวเรือน สามารถลดการใช้พลังงานปีละ 50 ล้านบาท/ปี, เพิ่มรายได้วิสาหกิจชุมนุมกว่า 140 แห่ง
- การกำหนดแผนงานในอนาคตได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนในการทบทวนจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกเพราะมีหลายปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับกติกาสากล เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) , โครงการระบบขนส่งสาธารณะ, การลงทุนอุตสาหกรรมใหม่, ความต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งจะเกิดผลกระทบโครงสร้างและค่าไฟฟ้า
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์ไม่น่าจะขยายวงกว้าง แต่ต้องรอดูระยะเวลาในการควบคุมโรคมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ประชุม กพช.ได้อนุมัติให้กระทรวงฯ ในการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว แต่หากมีความจำเป็นต้องล็อกดาวน์ประเทศเหมือนช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็มีมาตรการเตรียมพร้อมไว้แล้ว
“มีการเตรียมการขออนุมัติไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบไหน อย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าด้วยความร่วมมือ และการตระหนักรู้ป้องกันตัว เหตุการณ์เหมือนในช่วงเดือนเมษาฯ ไม่น่าจะเกิดขึ้น” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 63)
Tags: กระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน, ปิโตรเลียม, พลังงาน, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, ไฟฟ้า