เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ตามที่รัฐบาลได้ขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 ม.ค.64 โดยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งระบาดของโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การรับมือกับสถานการณืดังกล่าวได้ผลดีขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันพบการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ขึ้นในบางพื้นที่ รัฐบาลจำเป็นต้องกระชับและยกระดับมาตรการที่จำเป็นเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ไม่ให้แพร่ขยายออกไปในวงกว้าง นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายดังนี้
ข้อ 1 การห้ามใช้หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค ห้ามประชนชนใช้ เข้าไป หรืออยู่ในพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่งตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ
ข้อ 2 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่ง พิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ของโรคไว้เป็นการชั่วคราว
ข้อ 3 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด
ข้อ 4 มาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจและคัดกรองการเดินทางและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว
ข้อ 5 การปฏิบัติและบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ส่วนราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ได้เคยกำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 11) และข้อกำหนด (ฉบับที่ 14) อย่างเคร่งครัด
ข้อ 6 การประสานงาน ให้ ศปก.ศบค.ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการขับเคลื่อน เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อให้ปัญหายุติโดยเร็วควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ข้อ 7 เพื่อให้การกำหนดมาตรการป้องกันโรคเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การออกประกาศ หรือคำสั่งของผู้ว่าฯ ให้ดำเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีหรือตามที่ ศบค.กำหนด และให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหำดไทย ร่วมกันพิจำรณาประเมินและกำหนดพื้นที่สถานการณ์เพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดใหม่
ข้อ 8 ให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นคำสั่งตามข้อกำหนดนี้
โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป
Tags: พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ราชกิจจานุเบกษา, ห้ามเคลื่อนย้าย, แรงงานต่างด้าว