ข้อมูลเบื้องต้นจากการทดลองขั้นสุดท้ายในตุรกีบ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทซิโนแวก ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ของจีน มีประสิทธิภาพ 91.25% ซึ่งเป็นผลการทดลองที่ดีกว่ามาก เมื่อเทียบกับการทดลองวัคซีนดังกล่าวในบราซิล
ทั้งนี้ นักวิจัยในบราซิลซึ่งทำการทดลองวัคซีนเฟส 3 เปิดเผยเมื่อวันพุธ (23 ธ.ค.) ว่า วัคซีนของจีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 50% แต่ได้ระงับการเปิดเผยผลการทดลองทั้งหมดตามคำขอของบริษัทซิโนแวก ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงความโปร่งใสของข้อมูลการทดลอง
ด้านนักวิจัยตุรกีเปิดเผยเมื่อวานนี้ (24 ธ.ค.) ว่า ไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงใดๆ ปรากฎให้เห็นในระหว่างการทดลองวัคซีนของซิโนแวก นอกเหนือไปจากการที่มีผู้เข้ารับการทดลองรายหนึ่งมีอาการแพ้ ขณะที่ผลข้างเคียงโดยทั่วไปของวัคซีนดังกล่าวคือ การมีไข้ มีอาการเจ็บปวดที่ไม่รุนแรง และเกิดอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย
การทดลองวัคซีนในตุรกีเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา และมีอาสาสมัครเข้ารับการทดลองกว่า 7,000 คน โดยทีมนักวิจัยระบุว่า ผลการทดลองล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อวานนี้นั้นรวบรวมจากข้อมูลของผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 1,322 คน
ซิโนแวกนับเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายแรกของจีนที่เปิดเผยรายละเอียดการทดลองทางคลินิกขั้นสุดท้าย ตามหลังบริษัทคู่แข่งอย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเปิดเผยผลการทดลองวัคซีนเมื่อเดือนที่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 63)
Tags: COVID-19, จีน, ซิโนแวก ไบโอเทค, ตุรกี, บราซิล, ผลการทดลอง, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19