กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า วันนี้พบคนไทย 3 คนในครอบครัวเดียวกันติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยผู้เป็นปู่และย่าเดินทางกลับมาจากไปเที่ยวฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และนำเชื้อกลับมาติดหลานชายวัย 8 ขวบ
- TBANK สั่งปิดสาขาดอนเมือง หลังพบญาติพนง.ติดโควิด-19
- In Focus: “โควิด-19” ลามยุโรปและตะวันออกกลาง จับตา WHO ประกาศภาวะการระบาดระดับโลกหรือไม่
- ยอดผู้เสียชีวิตโควิด-19 ในจีน 2,715 ราย ติดเชื้อ 78,064 ราย
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผู้ป่วยยืนยันทั้ง 3 ราย คนแรกเป็นชายอายุ 65 ปี เดินทางไปเที่ยวฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นกลับมามีไข้ ไอ 3 วัน จึงเข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.พ.และพบว่ามีอาการปอดอักเสบ ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการยืนยันตรงกัน 2 แห่งว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.โรคทรวงอก
รายที่สองเป็นภรรยาของของผู้ป่วยรายแรก เดินทางไปฮอกไกโดแล้วกลับมามีไข้ ไอ ผลตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.บำราศฯ
และ รายที่สามเป็นเด็กชายวัย 8 ปี ซึ่งเป็นหลานของผู้ป่วยรายและและรายที่สอง แต่ไม่ได้เดินทางไปญี่ปุ่นด้วย คาดว่าได้รับเชื้อมาจากปู่และย่าที่เดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น เนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้ชิดในบ้านเดียวกัน
“ขณะนี้เรากำลังติดตามผู้ที่ร่วมทริปที่เดินทางกลับมาด้วยกัน ตลอดจนผู้โดยสารและลูกเรือในเที่ยวบินนั้นทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อาการยังปกติ ขอยืนยันว่า แม้จะพบเคส 3 รายที่เกิดขึ้นนี้ แต่การแพร่ระบาดของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 เพราะไม่ใช่การระบาดภายในประเทศ”
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้ จากกรณีที่พบล่าสุดส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศไทยเพิ่มเป็น 40 ราย ขณะที่มีผู้ป่วย 2 รายหายดีและกลับบ้านได้แล้ว เป็นหญิงชาวไทย 1 ราย และนักท่องเที่ยวชายชาวจีน 1 ราย ทำให้มียอดผู้ที่กลับบ้านแล้วมีทั้งสิ้น 24 ราย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศห้ามบุคลากรเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มเสี่ยงโดยไม่มีเหตุจำเป็น แต่หากมีเหตุจำเป็นจริงๆ เมื่อเดินทางกลับมาแล้วจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนในการเฝ้าระวังโรคและติดตามอาการ 14 วัน โดยประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย โซนเอเชีย ได้แก่ จีน, ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น ส่วนโซนยุโรป ได้แก่ อิตาลี และโซนตะวันออกกลาง ได้แก่ อิหร่าน
“ประเทศต่างๆ เหล่านี้มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขกำลังจับตาสถานการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นพ.สุขุม กล่าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า นอกจากการออกประกาศให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข งดการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปประชุม สัมมนา ดูงาน หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ลาพักร้อนแล้ว ยังขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยราชการให้เลื่อนการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน โดยจะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้นในระหว่างที่ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีการนำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศ
ขณะเดียวกัน ขอความร่วมมือไปยังสายการบินและบริษัทนำเที่ยวหยุดจัดโปรโมชั่นตั๋วโดยสาร และโปรแกรมท่องเที่ยวในราคาถูกสำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ
“ขอวิงวอนสายการบินทั้งหลาย หยุดโปรโมชั่น ไม่ใช่ว่าพอคนหยุดเดินทาง ก็ออกโปรโมชั่นกันใหญ่ให้คนไปเที่ยว โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา ค่าตั่วไป-กลับญี่ปุ่นราคาถูก แต่ค่ารักษาแพง ถ้าเกิดไปรับเชื้อมาเต็มๆ อาจเป็นการไปเที่ยวครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ต้องหักห้ามใจ เมืองไทยยังมีอีกหลายแห่งที่สามารถไปเที่ยวได้ ในเมื่อต่างประเทศไม่มา คนไทยต้องเที่ยวในประเทศไทย ให้เงินสะพัด น่าจะเป็นการช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า” นายอนุทิน ระบุ
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ยังกล่าวถึงกรณีผู้ป่วยชายซึ่งเป็นเคสที่ รพ.บี แคร์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายล่าสุดว่า สมควรที่จะต้องได้รับการตำหนิ เนื่องจากผู้ป่วยทราบดีว่าเดินทางไปประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ไม่ยอมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ได้ทราบในครั้งแรก และยังมีการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับครอบครัว รวมถึงการเดินทางตามปกติ
“เคสนี้ต้องตำหนิ ไม่ยอมทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำ เดินทางกลับมามีไข้ ไปติดต่อกับคนในบ้าน มีการเดินทางไปมา ถ้าหาก รพ.บีแคร์ ตรวจไม่เจอ ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยรายนี้จะกลายเป็น super spreader เรามีคุณป้าที่เกาหลีแล้ว เราไม่ต้องการคุณลุงในประเทศไทย ทำแบบนี้ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว โชคดีที่เราเจอตัวได้ก่อน เพราะคนเดียวที่ติดเชื้อ ทำให้เราต้องไปตรวจคนอื่นๆ อีก อย่างน้อย 50-100 คน เพราะบุคคลากรที่ รพ.บีแคร์ 40 คนก็มาดูแลผู้ป่วยรายนี้ ไม่นับคนในครอบครัวที่ไปทำงาน หลานที่ไปโรงเรียนอีก” นายอนุทินกล่าว
แต่อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และมีประวัติผู้เกี่ยวข้องที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายนี้ทั้งหมด รวมถึงผู้โดยสาร และลูกเรือที่เดินทางด้วยเครื่องบินลำเดียวกับผู้ป่วยรายนี้ โดยกรมควบคุมโรค จะติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในระยะ 14 วันนี้ ส่วนหลานของผู้ป่วยรายนี้ ทีมสอบสวนโรคได้เข้าไปติดตามความเสี่ยงในโรงเรียนแล้ว โดยได้ขอให้นักเรียนในห้องเรียนเดียวกันประมาณ 50 คน หยุดเรียน 14 วัน เพื่อสังเกตอาการและเป็นการลดโอกาสการแพร่เชื้อ โดยจะติดตามอาการจนครบระยะ 14 วัน
นายอนุทิน ยังขอความร่วมมือไปถึงผู้ที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ หรือการชุมนุมทางการเมืองในระยะนี้ โดยขอให้สถานการณ์ปลอดภัยกว่านี้ก่อน อย่าเพิ่งจัดการชุมนุม รวมทั้งอย่าเพิ่งจัดสัมมนา เดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยขอให้เลื่อนออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกว่านี้
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อนั้น คาดว่าบ่ายนี้จะเซ็นประกาศดังกล่าวได้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 วันจึงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
ด้านสำนักงานเขตดอนเมือง พร้อมด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข 60 กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรมควบคุมโรค ได้ลงพื้นที่โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง เพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างนักเรียนที่เป็นกลุ่มสัมผัสโดยตรง มีความเสี่ยงสูง เป็นนักเรียน ชั้น ป.3/4 จำนวน 30 ราย ครู 11 ราย โดยให้ติดตามอาการ 14 วัน ทำความสะอาดที่พักอาศัย งดออกนอกบ้าน และกลุ่มสัมผัสความเสี่ยงต่ำ ประมาณ 100 คน ให้งดกิจกรรมไปในที่ชุมชนหรือที่มีผู้คนหนาแน่น
และในช่วงบ่ายทางฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ร่วมกับกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย จะร่วมทำกันสะอาดพื้นที่โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง มีคำสั่งปิดโรงเรียน 14 วัน ตั้งแต่ 26 ก.พ. ถึง 9 มี.ค.63
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 63)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, ผู้ติดเชื้อในไทย, ไวรัสโควิด-19, ไวรัสโคโรนา