นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส และ นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ร่วมกันยืนยันความพร้อมในการร่วมทดสอบการใช้คลื่นความถี่โทรคมนาคมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้โดยสารรถไฟฟ้า หลังจากมีการประกาศเปิดให้บริการ 5G โดยผลการทดสอบที่ผ่านมายังไม่พบผลกระทบกับการเดินรถแต่อย่างใด
นายสรพงศ์ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กำหนดให้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งลงพื้นที่ทดสอบคลื่นความถี่ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ADVANC ผู้ให้บริการคลื่นความถี่ 5G และ บีทีเอส ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (สายสีเขียว) เพื่อตรวจสอบปัญหา และอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น พร้อมหาวิธีป้องกันการเกิดผลกระทบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพของระบบการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งผลการทดสอบในเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางรางได้ขอให้ทั้งสองหน่วยงาน ดำเนินการทดสอบผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และให้บีทีเอส ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์กรองคลื่นรบกวนตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครบภายใน 5 เดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ด้านนายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบีทีเอสได้ศึกษาและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกันระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในระบบโทรคมนาคมกับคลื่นที่ใช้ในการเดินรถไฟฟ้า โดยเฉพาะเมื่อ กสทช.ประกาศแผนในการนำคลื่นความถี่ 2500 – 2600 MHz มาประมูลเพื่อใช้ในกิจการ 5G บีทีเอสจึงได้เข้าหารือรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการป้องกัน ไม่ให้เกิดผลกระทบกับการเดินรถ
รวมทั้งประสานอย่างใกล้ชิดกับทางผู้ผลิตและติดตั้งระบบอาณัติสัญญานการเดินรถ และเอไอเอสที่ชนะการประมูลคลื่น 2500-2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่อยู่ใกล้ชิดกับ คลื่นวิทยุ 2400-2500 MHz ที่ระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสใช้อยู่
“ได้มีการทำงานร่วมกับเอไอเอสอย่างใกล้ชิดเพื่อทดสอบและป้องกันปัญหาเรื่องคลื่นรบกวน โดยได้มีมาตรการร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการเดินรถ แม้ว่าการทดสอบเบื้องต้นจะไม่พบปัญหาใด ๆ แต่เราจะยังคงร่วมมือกันเดินหน้าทดสอบอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงเวลา และทุกเส้นทางเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการของทั้ง 2 องค์กร ขณะที่บีทีเอสเองก็ได้ลงทุนติดตั้งระบบป้องกันตัวกรองคลื่น ในกรณีที่พบการรบกวนแฝงจากคลื่นความถี่ต่าง ๆ เพื่อให้การเดินรถไม่เกิดปัญหาในระยะยาว”
ขณะที่นายวสิษฐ์ กล่าวว่า เอไอเอสให้ความสำคัญกับการป้องกันผลกระทบจากคลื่นความถี่มาโดยตลอด และทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับบีทีเอสซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของคนเมือง เอไอเอสได้ร่วมมือกันทดลอง ทดสอบมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 ก่อนเปิดประมูลและเข้มข้นยิ่งขึ้นหลังจากประมูลเรียบร้อย ในทุกเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ขยายเครือข่ายทั้ง 4G / 5G โดยการทดสอบในเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 63)
Tags: 5G, ADVANC, BTS, กระทรวงคมนาคม, กสทช, รถไฟฟ้า