ตลอดปี 2563 ทั่วโลกต่างเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิด เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่รับศึกหนักที่สุด เพราะนอกจากจะเผชิญกับโรคระบาดแล้ว ยังต้องรับมือกับการประท้วงและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ เรามาดูกันว่ามีบุคคลใดบ้างที่โดดเด่นขึ้นมาในปีแห่งความสับสนวุ่นวาย
“จอร์จ ฟลอยด์” ผู้ปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดสีผิว
ในช่วงปลายเดือนพ.ค. คลิปวิดีโอบันทึกภาพนาทีชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันวัย 46 ปี ได้ถูกเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งสร้างความสลดหดหู่ใจและโกรธแค้นให้กับผู้คนทั่วอเมริกา โดยฟลอยด์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว หลังจากที่พนักงานร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สงสัยว่าเขาพยายามซื้อของในร้านด้วยธนบัตรปลอม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายมาถึงที่เกิดเหตุก็ได้จับฟลอยด์ใส่กุญแจมือและผลักให้นอนคว่ำลงกับพื้น จากนั้นตำรวจนายหนึ่งใช้เข่ากดลงบนคอและทิ้งน้ำหนักตัวลงไป ฟลอยด์พร่ำบอกตำรวจว่า “ผมหายใจไม่ออก” เป็นเวลานานกว่า 8 นาที จนหมดสติและเสียชีวิตระหว่างถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
การเสียชีวิตของฟลอยด์จุดชนวนประท้วง “Black Lives Matter” โดยมีเมืองมินนีแอโพลิสเป็นศูนย์กลางการประท้วง และลุกลามไปทั่วประเทศ ขณะที่คนดังมากมายก็ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมและต่อต้านการเหยียดสีผิว เช่น บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ, ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท แอปเปิล อิงค์, โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรผิวสีคนดัง รวมถึงคนดังในวงการดนตรีดังอย่าง ริฮานนา, เทย์เลอร์ สวิฟต์, มาดอนน่า ฯลฯ นอกจากนี้ กระแสเรียกร้องความยุติธรรมให้ฟลอยด์ยังลุกลามไปทั่วโลก
“โจ ไบเดน” และ “คามาลา แฮร์ริส” บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
นายโจ ไบเดน เริ่มเส้นทางอาชีพสายการเมืองหลังจากที่พรรคเดโมแครตเห็นแววและเสนอให้เขาลงชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภารัฐเดลาแวร์ในปี 2515 ขณะที่มีอายุเพียง 29 ปี ซึ่งเขาก็ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน หลังจากนั้นเขาได้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2531 เมื่อมีอายุ 46 ปี แต่สุดท้ายก็ถอนตัวไป ต่อมาในปี 2551 เขาได้เสนอตัวเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่สุดท้ายก็ต้องเปิดทางให้กับนายบารัค โอบามา เป็นตัวแทนพรรคชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีแทน แต่นายโอบามาก็เลือกนายไบเดนเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และเขาก็รั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีสองสมัยรวมระยะเวลา 8 ปี ล่าสุดในปี 2563 ซึ่งเป็นความพยายามชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่สาม นายไบเดนก็ทำสำเร็จในที่สุด โดยเตรียมขึ้นแท่นประธานาธิบดีคนที่ 46 และเป็นประธานาธิบดีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันด้วยวัย 78 ปี เมื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 2564
นางคามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐวัย 56 ปี เป็นบุตรสาวของผู้อพยพชาวอินเดียและจาเมกา ในปี 2546 นางแฮร์ริสได้รับเลือกเป็นอัยการเขตของซานฟรานซิสโก ต่อมาในปี 2553 เธอเป็นสตรีคนแรก ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรก และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีกสมัยในปี 2557 ต่อมาในปี 2560 นางแฮร์ริสเข้ารับตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือเป็นสตรีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนที่สอง และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในประวัติศาสตร์อเมริกัน นอกจากนี้ นางแฮร์ริสยังเป็นสตรีคนที่สามในประวัติศาสตร์อเมริกันที่ได้รับเลือกจากพรรคการเมืองใหญ่ให้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ต่อจากเจราลดีน เฟอร์ราโร ที่ได้รับเลือกจากพรรคเดโมแครตในปี 2527 และซาราห์ พาลิน ที่ได้รับเลือกจากพรรครีพับลิกันในปี 2551 และล่าสุดเธอก็กำลังจะเป็นสตรีคนแรก ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรก และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้คนแรก ที่จะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ
“เจเน็ต เยลเลน” ว่าที่ขุนคลังหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกัน
นางเจเน็ต เยลเลน วัย 74 ปี เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการเศรษฐศาสตร์มาอย่างยาวนาน และสั่งสมประสบการณ์การทำงานร่วมกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มาอย่างโชกโชน เธอเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการเฟดในช่วงปี 2520-2521 โดยเฉพาะในเรื่องเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2537 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้เสนอชื่อเธอเป็นคณะกรรมการเฟด และแต่งตั้งเธอเป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจในปี 2540 ต่อมาในช่วงปี 2547-2553 เธอเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ก่อนจะรับตำแหน่งรองประธานเฟดระหว่างปี 2553-2557 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเฟด ระหว่างปี 2557-2561 ล่าสุดนายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เสนอชื่อนางเยลเลนให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐ เตรียมขึ้นแท่นเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐในประวัติศาสตร์ 231 ปี
“แอนโทนี ฟอซี” แพทย์ใหญ่สู้ศึกโควิด
นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐ และนายแพทย์ใหญ่ของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว คือหัวหอกในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ ซึ่งรั้งอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต โดยขณะนี้สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 18 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3 แสนราย
แม้จะเป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 แต่นพ.ฟอซีกลับไม่ได้รับความสำคัญจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เป็นไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากมักมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับนโยบายการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี ดูเหมือนนพ.ฟอซีจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่า ยกตัวอย่างผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัย Quinnipiac ในสหรัฐเมื่อเดือนก.ค. ซึ่งระบุว่า กว่า 60% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการสำรวจครั้งนี้ มีความเชื่อถือนพ.ฟอซีมากกว่าปธน.ทรัมป์ในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19
สำหรับอนาคตของนพ.ฟอซี ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีคนใหม่น่าจะสดใสกว่าเดิม เพราะนายไบเดนได้ขอให้นพ.ฟอซี เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 63)
Tags: คามาลา แฮร์ริส, จอร์จ ฟลอยด์, สหรัฐ, เจเน็ต เยลเลน, แอนโทนี ฟอซี, โจ ไบเดน