นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำของขวัญปีใหม่ปี 2564 สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ และลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. โครงการของขวัญปีใหม่ของธนาคารออมสิน
- 1) มอบเงินจำนวน 500 บาทให้กับลูกค้าที่มีประวัติการส่งชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 3 ปี ไม่มีประวัติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือเป็นหนี้ NPLs โดยมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 – มกราคม 2564
- 2) เพิ่มรางวัลพิเศษของสลากออมสิน Digital “ฉลองปีใหม่ 2564” จำนวน 20 รางวัล รางวัลละ 1 ล้านบาท รวม 20 ล้านบาท สำหรับการออกรางวัลในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564
2. โครงการของขวัญปีใหม่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- 1) โครงการชำระดีมีคืน สำหรับหนี้เงินกู้จัดชั้นปกติ โดยการโอนคืนดอกเบี้ยเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากให้แก่ (1) ลูกค้าเกษตรกรและบุคคลในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงรายละไม่เกิน 5,000 บาท และ (2) ลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาท
- 2) โครงการลดภาระหนี้ สำหรับหนี้เงินกู้ NPLs หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 15 เดือน โดยการคืนดอกเบี้ยให้แก่ (1)ลูกค้าเกษตรกรและบุคคลในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และ (2)ลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตร สหกรณ์ นิติบุคคล
- กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในอัตรา 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564
3. โครงการของขวัญปีใหม่ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
- 1) กลุ่มที่ 1 ได้รับสิทธิของขวัญปีใหม่ เป็นเงินจำนวน 1,000 บาท สำหรับผู้มีเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีประวัติการชำระดี 48 เดือน และชำระเงินค่างวดผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL ในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2563
- 2) กลุ่มที่ 2 ได้รับสิทธิของขวัญปีใหม่ เป็นเงินจำนวน 500 บาท จำนวนไม่เกิน 100,000 ราย สำหรับลูกค้าที่ไม่เป็นผู้รับสิทธิในกลุ่มที่ 1 มีการสมัครใช้งานแอปพลิเคชัน GHB ALL และผูกบัญชีเงินฝากในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2563 และชำระเงินค่างวดผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL ในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2563
- ทั้งนี้ ธอส. จะดำเนินการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2563 – 4 มกราคม2564
4.โครงการของขวัญปีใหม่ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
- 1) เสริมสภาพคล่อง SMEs ไทย โดยลดค่าธรรมเนียมวิเคราะห์โครงการ (Front End Fee) ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดสำหรับโครงการสินเชื่อจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) (2) โครงการสินเชื่อ Smart SMEs และ (3) โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง SME D Happy แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2564
- 2) โครงการ “จ่ายดี มีเติม” สำหรับลูกค้าเดิมที่มีวงเงินสินเชื่อประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Term Loan) และมีประวัติชำระหนี้ดีจนถึง 31 ธันวาคม 2563 ธพว. จะเติมทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมสูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อเดิม ทั้งนี้ เมื่อรวมกับวงเงินสินเชื่อเดิม จะต้องไม่เกินวงเงินสูงสุด 15 ล้านบาท
5. โครงการของขวัญปีใหม่ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
- 1) ช่วยจัดสรรการผ่อนชำระ สำหรับลูกหนี้ค่าประกันชดเชยขออนุมัติประนอมหนี้ครั้งแรก ในอัตราดอกเบี้ย 4% โดยผ่อนชำระค่างวด ปีที่ 1 – 2 มากกว่า 20% ของดอกเบี้ยประจำเดือน และปีที่ 3 – 5 มากกว่า 50% ของดอกเบี้ยประจำเดือน
- 2) ช่วยลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้ประกันชดเชยที่มีศักยภาพ ในอัตราดอกเบี้ย 0% โดยผ่อนชำระค่างวดไม่น้อยกว่า 50% ของดอกเบี้ยปกติ (ผ่อนชำระภายใน 5 ปี)
- 3) ช่วยลดค่างวดผ่อนชำระ สำหรับลูกหนี้ค่าประกันชดเชยก่อนฟ้องและหลังฟ้อง ในอัตราดอกเบี้ย 7.5% โดยผ่อนชำระค่างวด ปีที่ 1 – 2 มากกว่า 20% ของดอกเบี้ยประจำเดือน และปีที่ 3 – 5 มากกว่า 50% ของดอกเบี้ยประจำเดือน
- ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ธันวาคม 2564
6. โครงการของขวัญปีใหม่ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
- 1) ด้านสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการเริ่มต้นธุรกิจส่งออก สามารถยื่นขอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินสินเชื่อสูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย และสำหรับผู้ประกอบการ SMEs สามารถยื่นขอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 4% ต่อปี สำหรับ 1 ปีแรก วงเงินสินเชื่อสูงสุด 8 ล้านบาทต่อราย
- 2) ด้านรับประกันการส่งออก สำหรับผู้เอาประกันรายใหม่จำนวน 100 รายแรก จะได้รับฟรี ค่าวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ ธนาคารผู้ซื้อ และผู้ซื้อสินค้า 1 ราย และสำหรับผู้เอาประกันรายเดิม จะได้รับส่วนลดค่าวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ ธนาคารผู้ซื้อ และผู้ซื้อสินค้า 2 ราย เหลือ 50%
- ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564
7. โครงการของขวัญปีใหม่ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
- สำหรับลูกค้าที่ขอใช้บริการสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล จะได้รับฟรีค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญาและค่าประเมินหลักประกันและสำหรับลูกค้าทั่วไป ธอท. จะให้อัตรากำไรพิเศษในช่วงเดือนมกราคม 2564
- โดยระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 31 มกราคม 2564
8. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2
- ภาครัฐจะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน เช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่ง โดยโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 นี้ แบ่งกลุ่มผู้ใช้สิทธิเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย
- 1) ผู้ได้รับสิทธิเดิมตามโครงการคนละครึ่ง ไม่เกิน 10 ล้านคน จะได้รับสิทธิวงเงินสนับสนุนจากรัฐเพิ่มเติมคนละ 500 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งเมื่อรวมกับวงเงินตามสิทธิที่มีอยู่เดิม 3,000 บาท เท่ากับจะมีวงเงินรวม 3,500 บาท สามารถใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
- 2) ผู้ลงทะเบียนใหม่ ไม่เกิน 5 ล้านคน จะได้รับสิทธิวงเงินสนับสนุนจากรัฐคนละ 3,500 บาท สำหรับใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2564
9. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2
- ภาครัฐช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564
10. การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ
- ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2564 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
11. โครงการกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่ 10 บาท
- นิวนอร์มอลพลัสของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่ 10 บาท นิวนอร์มอลพลัส ที่ให้ความคุ้มครองทั้งอุบัติเหตุและโรค COVID-19 ในคราวเดียวกัน ระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน อัตราเบี้ยประกันภัย 10 บาท/ราย (ผู้ประกอบการสามารถซื้อเพื่อมอบความคุ้มครองให้กับพนักงาน และลูกค้าของตนได้ และสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป) ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง สูงสุดถึง 100,000 บาท และคุ้มครองกรณีโรค COVID-19 แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” 3,000 บาท ทั้งนี้สามารถซื้อกรมธรรม์ได้โดยตรงกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มกราคม 2564
12. มาตรการเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางการเงิน
- เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีมาตรการเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางการเงินเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2564 ดังนี้
- (1) มาตรการลดเบี้ยปรับ อัตรา 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี
- (2) มาตรการลดเบี้ยปรับอัตรา 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินกลุ่มก่อนฟ้องคดีที่มาชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ)
- (3) มาตรการลดอัตราการคิดเบี้ยปรับจากเดิมอัตรา 7.5% ต่อปีเหลืออัตรา 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และ (4) เพิ่มอัตราการลดเงินต้นจากเดิม 3% เป็น 5% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว กรณีผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้มาชำระหนี้คืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
13.โครงการของขวัญปีใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- จัดทำไมโครไซต์ Start to Grow (www.sec.or.th/starttogrow) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและความรู้ที่จำเป็นในการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผู้ประกอบการใหม่ (Start-Up) และประชาชนที่สนใจ ซึ่งรวมถึงวิธีการสำรวจความพร้อมและรูปแบบการระดมทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน ขั้นตอนและช่องทางติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระดมทุน ข่าวสารกิจกรรมการให้ความรู้ และช่องทางการขอรับคำปรึกษาฟรีผ่านคลินิกระดมทุน โดยเปิดใช้งานไมโครไซต์ดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 63)
Tags: กระทรวงการคลัง, คนละครึ่งเฟส 2, ตลาดหลักทรัพย์, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ประกันภัย, ผู้ประกอบการ, ภาษี, สถาบันการเงิน, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ