นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ จนทำให้มีคำสั่งล็อกดาวน์บางพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครนั้น บริษัทได้รับผลกระทบด้านรายได้เล็กน้อย จากการปิดสาขาของโรงภาพยนตร์ในจังหวัดสมุทรสาคร 2 แห่ง จำนวน 5 จอ เมื่อเทียบกับจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มีอยู่ทั้งหมด 817 แห่ง ซึ่งถือเป็นจำนวนน้อย และตั้งแต่วันนี้ (21 ธ.ค.63) บริษัทได้กลับมาปรับการนั่งในโรงภาพยนตร์ให้มีการเว้นระยะห่าง จากเดิมที่กลับมานั่งได้ตามปกติ ทำให้รายได้อาจจะกระทบไปบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในช่วงนี้และช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ดี เช่น อีเรียมซิ่ง ที่ทำรายได้ทะลุ 200 ล้านบาท การ์ตูนญี่ปุ่น รายได้ 100 ล้านบาท และล่าสุดวันเดอร์ วูแมน 1984 ที่จะทำรายได้แตะ 100 บาทได้เช่นกัน ทำให้ผลงานของบริษัทในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้น่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงปลายปีนี้เล็กน้อย
ส่วนรายได้จากโฆษณาในโรงภาพยนตร์ของบริษัทยังคงมีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง เนื่องจากสัญญาลูกค้าที่ลงโฆษณาในโรงภาพยนตร์กับบริษัท เป็นสัญญาระยาว 3-5 ปี และลูกค้ายังชำระค่าโฆษณาต่อเนื่อง อีกทั้งในส่วนของธุรกิจขายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มยังมีการเติบโตเฉี่ย 20% ต่อเดือน สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับบริษัท
สัดส่วนรายได้ของบริษัทในปัจจุบัน แบ่งเป็น รายได้จากการจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ 56% รายได้จากค่าโฆษณา 15-16% รายได้จากการขายป๊อปคอร์น 20% รายได้จากการผลิตคอนเท้นท์ 4-5%
นายนรุตม์ กล่าวว่า การต่อยอดธุรกิจของบริษัทในปี 64 บริษัทจะขยายการจัดจำหน่ายป๊อปคอร์นผ่านช่องทางรีเทลเพิ่มเติม หลังจากปัจจุบันบริษัทได้ขายป๊อปคอร์นผ่านบริการดิลิเวอรี่ และได้เพิ่มสินค้าใหม่เข้ามาตอบโจทย์การรับประทานที่บ้านมากขึ้น ขณะที่ในปี 64 จะเห็นความชัดเจนของการร่วมมือกับพันธมิตรค้าปลีกในการนำป๊อปคอร์นไปจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงเดือน ม.ค.64
สำหรับช่องทางการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ของบริษัทในปี 64 จะเพิ่มสัดส่วนการซื้อตั๋วภาพยนตร์ผ่านโมบายแอป ให้เพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปัจจุบันที่ 10% หลังจากที่ในปีหน้าบริษัทเตรียมปรับปรุงแอปพลิเคชั่น Major App ครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า ส่วนช่องทางขายตั๋วผ่าน E-Ticket หน้าโรงภาพยนตร์ บริษัทได้ร่วมกับกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในการนำเทคโนโลยี Contactless มาใช้ ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อตั๋วภาพยนตร์ที่ดีขึ้น และได้รับตั๋วภาพยนตร์โดยที่ไม่ต้องใช้กระดาษ ช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากร และช่วยลดโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันลูกค้าใช้ช่องทางการจำหน่ายผ่าน E-Ticket ในสัดส่วน 90%
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า KBTG ร่วมมือกับ MAJOR ในการนำเทคโนโลยีไร้สัมผัส (Contactless Technology) ผ่านตู้จำหน่ายตั๋วภาพยนตร์อัตโนมัติ E-Ticket ต่อยอดประสบการณ์การเข้าชมภาพยนตร์และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่และเสริมสร้างประสบการณ์ของลูกค้าด้วยเทคโนโลยีจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG โดยลูกค้าสามารถเลือกชมภาพยนตร์ จำนวนที่นั่ง ชำระเงิน รับตั๋วชมภาพยนตร์ผ่านระบบของตู้จำหน่ายตั๋วภาพยนตร์อัตโนมัติ ซึ่งจะแสดง QR Code เพื่อให้ลูกค้าใช้สมาร์ทโฟนสแกนรับตั๋วแทนการใช้กระดาษ (Paperless) เพื่อเข้าชมภาพยนตร์
การซื้อบัตรชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E-Ticket ที่สามารถตอบโจทย์และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของโรงภาพยนตร์ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าที่มาซื้อบัตรชมภาพยนตร์ สามารถเลือกซื้อได้โดยไม่จำเป็นจะต้องสัมผัสที่หน้าจอของตู้ (Contactless & Touchless) รวมไปถึงการรับบัตรชมภาพยนตร์ที่ไม่จำเป็นต้องปริ้นท์ตั๋วออกมาในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป แต่จะได้รับคิวอาร์โค้ดในสมารท์โฟนแทน ซึ่งจะทำให้ง่ายและสะดวกรวดเร็วกว่า ที่สำคัญคือจะเป็นการช่วยลดการใช้กระดาษ ประหยัดพลังงานและรักษ์โลก รักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
สำหรับเทคโนโลยีไร้สัมผัสนี้จะเริ่มนำร่องใช้ที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 63 เป็นต้นไป โดยจะทดลองเป็นระยะเวลา 2 เดือนในสาขานำร่อง ก่อนนำไปใช้ในสาขาอื่นๆในเครือ
ในช่วงที่ผ่าน KTBG ได้พัฒนาบริการต่าง ๆ ให้กับพันธมิตรไปแล้ว 20 บริการ โดยในปี 64 จะมีการพัฒนาบริการใหม่ๆที่เป็นนวัตกรรมออกมาให้กับพันธมิตรรายอื่นเพิ่มเติมอีก เช่น กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งธนาคารจะนำระบบ iot ที่เป็นระบบสตรีมมิ่งแบบเรียลไทม์ ซึ่งนำมาใช้ในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ และกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะนำบริการทางเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวก เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 63)
Tags: นรุตม์ เจียรสนอง, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป, โรงภาพยนตร์, โรงหนัง