องค์กรแรงงานเมียนมาออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่ออนุญาตให้แรงงาน 60,000 คนซึ่งติดค้างอยู่ในเมียนมาอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย
นายอู เส่ง เตย์ ผู้อำนวยการองค์กรเครือข่ายสิทธิแรงงานเมียนมา (MWRN) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ระบุในแถลงการณ์ว่า หากรัฐบาลเมียนมาไม่สามารถโน้มน้าวรัฐบาลไทยให้อนุญาตแรงงานชาวเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ ทางการเมียนมาควรคืนเงินค่าใช้จ่ายในการทำสัญญาจ้างงานให้กับแรงงานเหล่านั้น
ผอ. MWRN กล่าวว่า “มีแรงงานเมียนมามากกว่า 60,000 คนที่เสียค่าใช้จ่ายในการทำสัญญากับนายจ้างชาวไทยผ่านเอเจนซี่ และขณะนี้พวกเขาก็ยังคงติดค้างอยู่ในเมียนมาเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาต้องประสบปัญหาเพราะกู้ยืมเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว และไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากยังคงไม่สามารถเดินทางไปทำงานในประเทศไทยได้”
ข้อความในแถลงการณ์ของ MWRN ระบุต่อไปว่า รัฐบาลเมียนมาควรต้องหาทางร่วมมือกับรัฐบาลไทย หรือคืนเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับแรงงานเหล่านั้น พร้อมเสริมว่า ปัจจุบันแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความยากลำบาก มีแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง และไม่สามารถเปลี่ยนไปทำงานอื่นได้ ในขณะบางคนก็ถูกนายหน้าฉ้อโกงเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
“สถานการณ์ตอนนี้แทบไม่มีอะไรดีขึ้นเลย แต่เราก็โชคดีที่รัฐบาลไทยยอมผ่อนผันให้แรงงานที่วีซ่าหมดอายุสามารถทำงานในไทยต่อไปได้อีก 2 ปี”
นายอู เส่ง เตย์ กล่าว
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมียนมายังคงวิกฤต
ปัจจุบัน มีแรงงานเมียนมาที่เดินทางออกทำงานในประเทศต่างๆ มากกว่า 4 ล้านคน โดยในจำนวนนั้นมีมากกว่า 2 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 63)
Tags: COVID-19, อู เส่ง เตย์, เมียนมา, แรงงาน, แรงงานต่างด้าว, โควิด-19