นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการใช้ ม. 112 ต่อผู้ชุมนุมในไทยนั้น ในเบื้องต้นได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อชี้แจง ดังนี้
1.กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การใช้เสรีภาพทางวิชาการ หรือการถกเถียงเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ในฐานะสถาบัน กฎหมายนี้มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยก็เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี มกุฎราชกุมาร หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับพลเมืองไทยทุกคน
2.สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกระบวนกฎหมายอาญาในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการในกรณีดังกล่าวก็จะเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีจำนวนมากก็จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ
3.ต่อกรณีการตั้งข้อหาผู้ประท้วงวัย 16 ปีตามประมวลกฎหมายอาญาม. 112 ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลเยาวชน ยิ่งกว่านั้นมันก็เป็นไปตามที่โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติที่ได้ระบุระหว่างการแถลงข่าวเองว่า ศาลได้ปฏิเสธคำขอให้มีการคุมขัง พร้อมกับอนุญาตให้ประกันตัวแบบมีเงื่อนไข
4.ขอย้ำอีกครั้งว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประท้วงไม่ได้ถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แต่ผู้ที่ถูกจับกุมได้ละเมิดกฏหมายอื่น ๆ ของไทยซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยมิได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ตราบใดที่การชุมนุมดำเนินการด้วยความสงบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ
รัฐบาลสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าวหรือมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยเคารพมุมมองของผู้ที่เห็นต่าง
บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะนี้คือการให้ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยใช้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งนี้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนที่สัญจรในบริเวณโดยรอบที่ชุมนุม สำหรับกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางรายนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ละเมิดกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
รัฐบาลยังมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ชุมนุมจะเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐสภา เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และนำมาสู่การหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความเห็นต่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของประชาชนทุกกลุ่ม และนำความสงบสุขกลับสู่สังคมไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 63)
Tags: ม.112, มาตรา 112, สิทธิมนุษยชน, อนุชา บูรพชัยศรี